Full Description
ผู้ที่ตืนเช้าขึ้นมาอย่างปลอดภัยในบ้านของเขา
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน
ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
2012 - 1433
﴿شرح حديث: من أصبح آمناً في سربه﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: عبدالصمد عدنان
مراجعة: يوسف أبوبكر
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที 108
ผู้ที่ตืนเช้าขึ้นมาอย่างปลอดภัยในบ้านของเขา
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...
ท่านอิมามอัต-ติรมิซียฺได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อปรัชญาการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นหะดีษที่รายงานโดยท่านอุบัยดิลลาฮฺ บิน มิหฺศ็อน อัล-ค็อฏมียฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَصْبَحَ مِنْكُمْ آمِنًا فِي سِرْبِهِ، مُعَافًى فِي جَسَدِهِ، عِنْدَهُ قُوتُ يَوْمِهِ، فَكَأَنَّمَا حِيزَتْ لَهُ الدُّنْيَا» [الترمذي برقم 2346]
ความว่า “ผู้ใดที่ตื่นเช้ามาพบกับสภาวะที่สงบสุขไม่หวาดหวั่นต่อชีวิต ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีอาหารการกินที่หะลาลอย่างเพียงพอ เหมือนกับว่าความเปี่ยมสุขแห่งโลกนี้ได้ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเขา” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ หมายเลขหะดีษ 2346 )
ความหมายของคำว่า ) (أصبح
หมายถึง ตื่นเช้าขึ้นมาในวันนั้น จากตรงนี้เป็นดัชนีบ่งชี้ว่ามุอฺมินจะต้องไม่ทุกข์เศร้าระทมในเรื่องที่เป็นอนาคต เพราะชีวิตของเขานั้นอยู่ภายใต้การลิขิตของอัลลอฮฺ ที่ทรงบริหารกิจการในชีวิตของเขาทั้งหมด ดังนั้นเขาควรที่จะมองอัลลอฮฺในมิติที่เป็นบวกอยู่เสมอ อย่าเพิ่งตีโพยตีพายในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ความหมายของคำว่า ( آمناً في سربه)
หมายถึง มีความปลอดภัย มีความสงบสุข ในครอบครัวของเขา บางทัศนะในที่พักอาศัยและถนนหนทางที่เขาย่ำก้าว และอีกทัศนะในบ้านของเขา
กล่าวคือ เขาจะมีความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปองร้ายจากผู้อื่น หรือปลอดภัยจากการถูกโจรกรรมทรัพย์สิน หรือแม้แต่การถูกทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี
การมีชีวิตที่ปลอดภัยถือเป็นความโปรดปรานมหาศาลยิ่งที่มาจากอัลลอฮฺแด่ปวงบ่าว รองลงมาจากความโปรดปรานแห่งอีมานและอิสลาม ซึ่งคนๆ หนึ่งจะไม่รู้ซึ้งถึงความโปรดปรานอันนี้ได้นอกจากผู้ที่มีชีวิตอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัยในชีวิต หรือผู้ที่อยู่ในภาวะสงคราม พวกเขานอนหลับท่ามกลางเสียงสะเทือนของเครื่องบินและเสียงปืนเสียงระเบิด นอนรอความตายที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที
อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺอัล-อันอาม โองการที่ 82 ว่า
﴿ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يَلۡبِسُوٓاْ إِيمَٰنَهُم بِظُلۡمٍ أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمُ ٱلۡأَمۡنُ وَهُم مُّهۡتَدُونَ﴾ [الأنعام : 82]
ความว่า “บรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยที่มิได้ให้การศรัทธาของพวกเขาปะปนกับการอธรรม(การตั้งภาคี)นั้น ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับความปลอดภัย และพวกเขาคือผู้ที่รับเอาคำแนะนำไว้” (อัล-อันอาม : 82 )
อัลลอฮฺได้สัญญาที่จะให้ความปลอดภัยแก่บรรดามุอฺมินตราบใดที่พวกเขาได้ดำรงตนอย่างคงมั่นอยู่ในการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ(เตาหีด) และมีอีมานด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ และได้ประกอบคุณงามความดี อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَيَسۡتَخۡلِفَنَّهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ كَمَا ٱسۡتَخۡلَفَ ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡ وَلَيُمَكِّنَنَّ لَهُمۡ دِينَهُمُ ٱلَّذِي ٱرۡتَضَىٰ لَهُمۡ وَلَيُبَدِّلَنَّهُم مِّنۢ بَعۡدِ خَوۡفِهِمۡ أَمۡنٗاۚ يَعۡبُدُونَنِي لَا يُشۡرِكُونَ بِي شَيۡٔٗاۚ وَمَن كَفَرَ بَعۡدَ ذَٰلِكَ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ٥٥﴾ [النور: ٥٥]
ความว่า “อัลลอฮฺได้สัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีว่าจะทรงให้พวกเขาสืบช่วงต่อหน้าแผ่นดิน ดั่งที่พระองค์ได้ให้กลุ่มหนึ่งได้สืบช่วงต่อมาแล้วก่อนหน้าพวกเขา และจะทรงทำให้ศาสนาที่พวกเขานับถือซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานเป็นที่มั่นคงและเป็นเกียรติแก่พวกเขา และจะทรงเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความปลอดภัยแก่พวกเขา แต่ให้พวกเขาภักดีและไม่มีภาคีใดๆ ต่อข้า หากมีผู้ใดปฏิเสธหลังจากนั้น เขาก็จะเป็นผู้ที่ฝ่าฝืน" (อัน-นูรฺ : 55 )
และอัลลอฮฺได้ตรัสไว้อีกว่า
﴿أَلَآ إِنَّ أَوۡلِيَآءَ ٱللَّهِ لَا خَوۡفٌ عَلَيۡهِمۡ وَلَا هُمۡ يَحۡزَنُونَ ٦٢ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَكَانُواْ يَتَّقُونَ ٦٣ لَهُمُ ٱلۡبُشۡرَىٰ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِۚ لَا تَبۡدِيلَ لِكَلِمَٰتِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ٦٤ ﴾ [يونس : 62- 64]
ความว่า “พึงทราบเถิดว่าแท้จริงบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺรักนั้นจะไม่มีความหวาดกลัวใดๆ และจะไม่มีความโศกเศร้าเสียใจทั้งสิ้น คือบรรดาผู้ศรัทธาและมีความยำเกรง พวกเขาจะได้รับข่าวดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อลิขิตของอัลลอฮฺ นั่นคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” (ยูนุส : 62-64)
ความหมายของคำว่า (معافى في بدنه)
หมายถึง มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ซึ่งมีรายงานจากอนัส แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเป็นดุอาอ์ว่า
«اللهم إِنِّيْ أَعُوْذُ بِكَ مِنَ الْبَرَصِ وَالْجُنُوْنِ وَالجُذَامِ، وَمِنْ سَيِّىءِ الأَسْقَامِ» [أخرجه أحمد في المسند 3/192]
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้รอดพ้นจากโรคเรื้อน วิกลจริต และจากโรคที่ร้ายแรง” ( บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 3/192)
ปกติท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะขอต่ออัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามบ่ายที่จะให้มีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งแก่ตัวท่านเอง ครอบครัว ทรัพย์สิน และท่านยังได้ส่งเสริมให้บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ดังหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
«لَمْ يَكُنْ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَدَعُ هَؤُلَاءِ الدَّعَوَاتِ حِينَ يُمْسِي وَحِينَ يُصْبِحُ : اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْعَافِيَةَ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ، اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الْعَفْوَ وَالْعَافِيَةَ فِي دِينِي وَدُنْيَايَ وَأَهْلِي وَمَالِي ...» [أبو داود برقم 5074]
ความว่า “ท่านเราะสูลไม่เคยละเลยที่จะกล่าวคำเหล่านี้ทั้งยามเช้าและยามเย็นว่า โอ้อัลลอฮฺข้าพระองค์ขอให้มีความปลอดภัยในดุนยาและอาคิเราะฮฺ โอ้อัลลอฮฺข้าพระองค์ขอให้มีความสุขความปลอดภัยในศาสนา ดุนยา ครอบครัวและทรัพย์สินของข้าพระองค์ด้วยเถิด ...” (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลขหะดีษ 5074)
หะดีษมุอาซฺ บิน ริฟาอะฮฺ รายงานจากพ่อของเขา เล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งท่านอบูบักรฺได้ขึ้นกล่าวปราศัยบนมิมบัรฺ แล้วท่านก็ร้องไห้ หลังจากนั้นท่านพูดว่า ครั้งหนึ่งในช่วงปีแรกๆ ท่านเราะสูลได้ยืนบนมิมบัรฺแล้วร้องไห้ แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«سَلُوا اللَّهَ الْعَفْوَ وَالْعَافِيَةَ، فَإِنَّ أَحَدًا لَمْ يُعْطَ بَعْدَ الْيَقِينِ خَيْرًا مِنْ الْعَافِيَةِ» [الترمذي برقم 3558]
ความว่า “พวกเจ้าจงขอให้มีความสุขสบาย ปลอดจากโรคภัยทั้งปวงเถิด เพราะไม่มีความดีใดๆ ที่คนๆ หนึ่งจะได้รับหลังจากการยะกีน(ความมั่นใจต่ออัลลอฮฺ) ที่จะดียิ่งไปกว่าการมีพลานามัยที่ดี” ( บันทึกโดยติรมิซียฺ หมายเลขหะดีษ 3558 )
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกไว้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่แยแส และมักจะปล่อยปะละเลยต่อความโปรดปรานอันนี้ ดังที่ท่านกล่าวว่า
«نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ» [رواه البخاري برقم 6412]
ความว่า “ความโปรดปรานสองประการที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดี และการมีเวลาว่าง” ( บันทึกโดยบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6412 )
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยแนะนำประชาชาติของท่านให้รีบฉกฉวยโอกาสในขณะที่ยังมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงก่อนที่จะประสบกับการเจ็บป่วย ดังหะดีษอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านกล่าวว่า
«اغْتَنِمْ خَمْساً قَبْلَ خَمْسٍ ... وذكر منها : صِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ» [رواه الحاكم برقم 7844، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير برقم 1077]
ความว่า “ท่านจงฉวยโอกาสห้าประการก่อนที่อีกห้าประการจะมาประสบ ... หนึ่งในนั้นคือ การมีสุขภาพที่ดีก่อนที่การเจ็บป่วยจะมาประสบ” ( บันทึกโดยอัล-หากิม หมายเลขหะดีษ 7844 ท่านกล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺบนเงื่อนไขของอัล-บุคอรีย์และมุสลิมแต่ท่านทั้งสองไม่ได้รายงานในตำราไว้, อัล-อัลบานีย์ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 1/244 หมายเลข 1077)
ท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา กล่าวว่า
«إِذَا أَصْبَحْتَ فَلَا تَنْتَظِرْ الْمَسَاءَ، وَإِذَا أَمْسَيْتَ فَلَا تَنْتَظِرْ الصَّبَاحَ، وَخُذْ مِنْ صِحَّتِكَ لِمَرَضِكَ، وَمِنْ حَيَاتِكَ لِمَوْتِكَ» [البخاري برقم 6416]
ความว่า “หากท่านมีชีวิตในยามเช้าก็อย่าได้รอเวลาเย็น แต่หากท่านอยู่ในเวลาเย็นก็อย่าได้รอเวลาเช้า จงรีบฉวยโอกาสก่อนที่ท่านจะเจ็บป่วย และก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต” ( บันทึกโดยบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6416)
ใครก็ตามที่เขามีโอกาสเข้าเยี่ยมโรงพยาบาลบ่อยๆ เขาจะเห็นผู้ป่วยบางรายที่ประสบกับโรคร้ายที่ทางแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารเยียวยารักษาได้ ดังนั้นเขาพึงขอบคุณอัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามเย็นเถิดที่พระองค์ได้ประทานสุขภาพที่ดีให้กับเขา อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَءَاتَىٰكُم مِّن كُلِّ مَا سَأَلۡتُمُوهُۚ وَإِن تَعُدُّواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ لَا تُحۡصُوهَآۗ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَظَلُومٞ كَفَّارٞ ٣٤ ﴾ [ابراهيم : 34]
ความว่า “และอัลลอฮฺทรงประทานแก่พวกเจ้าทุกสิ่งที่พวกเจ้าขอต่อพระองค์ และหากพวกเจ้าจะนับจำนวนความโปรดปรานของอัลลอฮฺแล้ว ก็ไม่อาจนับคำนวณได้ แท้จริงมนุษย์อธรรมยิ่งทั้งยังเนรคุณยิ่ง” (อิบรอฮีม : 34 )
ความหมายของคำว่า (عنده قوت يومه)
หมายถึง มีในปริมาณที่เพียงพอที่จะรับประทาน มีชีวิตอยู่ และการมีอาหารถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿فَلۡيَعۡبُدُواْ رَبَّ هَٰذَا ٱلۡبَيۡتِ ٣ ٱلَّذِيٓ أَطۡعَمَهُم مِّن جُوعٖ وَءَامَنَهُم مِّنۡ خَوۡفِۢ ٤﴾ [قريش : 3-4]
ความว่า “ดังนั้นจงให้พวกเขาภักดีต่อผู้อภิบาลแห่งบัยตุลลอฮฺนี้เถิด ผู้ซึ่งให้อาหารแก่พวกเขาให้พ้นจากความหิวโหย และทรงให้ความปลอดภัยแก่พวกเขาให้พ้นจากความหวาดกลัว” (กุเรช : 3-4 )
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มักจะขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้รอดพ้นจากความหิวโหยอยู่เสมอ ดังมีรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะกล่าวขอวิงวอนว่า
«اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنْ الْجُوعِ فَإِنَّهُ بِئْسَ الضَّجِيعُ» [أبو داود برقم 1547]
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้รอดพ้นจากความหิว ซึ่งมันเป็นเพื่อนที่เลวยิ่ง ” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลขหะดีษ 1547)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอต่ออัลลอฮฺให้ท่านได้รับริสกีในปริมาณที่พอเพียงต่อการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ท่านจึงได้ขอดุอาอ์ว่า
«اللَّهُمَّ اجْعَلْ رِزْقَ آلِ مُحَمَّدٍ قُوتًا» [البخاري برقم 6460، ومسلم برقم 1055]
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺได้โปรดทำให้ริสกีของครอบครัวของมุหัมมัดนั้น คืออาหารที่ใช้ประทังชีวิต(ก็เพียงพอแล้ว)” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6460 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1055)
ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่เขาได้รับความโปรดปรานทั้งสามประการนี้ในวันหนึ่งๆ เหมือนกับว่าเขาได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโลกดุนยานี้ทั้งหมด ผู้คนส่วนใหญ่ได้รับความโปรดปรานเหล่านี้อย่างมากมาย แต่พวกเขากลับปฏิเสธต่อความโปรดปรานเหล่านี้ ดูแคลนกับสิ่งที่ได้รับ อัลลอฮฺได้กล่าวถึงพวกเขาว่า
﴿يَعۡرِفُونَ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ ثُمَّ يُنكِرُونَهَا وَأَكۡثَرُهُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ ٨٣﴾ [النحل : 83]
ความว่า “พวกเขาตระหนักในความโปรดปรานของพระองค์ดี แต่แล้วพวกเขาก็ปฏิเสธ ซึ่งพวกเขาส่วนมากจะเป็นผู้ปฏิเสธ” (อัล-นะหฺลุ : 83)
﴿أَفَبِنِعۡمَةِ ٱللَّهِ يَجۡحَدُونَ ٧١﴾ [النحل: 71]
ความว่า “และต่อความโปรดปรานของอัลลอฮฺพวกเขาเนรคุณกระนั้นหรือ” (อัล-นะหฺลุ : 71)
อนึ่ง...ตัวยาสำคัญที่จะมาเยียวยารักษาโรคร้ายนี้คือการพิจารณาต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่ไม่ได้รับความโปรดปรานเหล่านี้ ดังหะดีษรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«انْظُرُوا إِلَى مَنْ أَسْفَلَ مِنْكُمْ، وَلَا تَنْظُرُوا إِلَى مَنْ هُوَ فَوْقَكُمْ، فَهُوَ أَجْدَرُ أَنْ لَا تَزْدَرُوا نِعْمَةَ اللَّهِ» [البخاري برقم 6490، ومسلم برقم 2963]
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงมองดูผู้ที่มีสถานะต่ำกว่า และอย่าได้มองดูผู้ที่สูงกว่า เนื่องจากว่าเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าที่จะไม่ดูแคลนต่อความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ในสิ่งที่พวกเจ้าได้รับ)”(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6490 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2963 )
อิบนุ ญะรีรฺ และท่านอื่นๆ กล่าวว่า “ หะดีษบทนี้ครอบคลุมถึงคุณงามความดีอันมากมาย เพราะว่าเมื่อมนุษย์เราได้เห็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานในโลกนี้มากกว่าเขา เขาก็จะปรารถนาที่จะให้ได้รับความโปรดปรานดังกล่าวเช่นกัน หรือแม้แต่พอใกล้เคียง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเช่นนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เขามองดูผู้ที่ได้รับความโปรดปรานน้อยกว่าเขา จะทำให้เขารู้สึกนอบน้อมและขอบคุณ และกระทำในสิ่งที่เป็นความดี” (ดูเศาะฮีหฺมุสลิมอธิบายโดยอิมามอัน-นะวาวียฺ 6/97)
มีหะดีษรายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา เล่าว่า
«أن رَجُلًا سَأَلَهُ فَقَالَ : أَلَسْنَا مِنْ فُقَرَاءِ الْمُهَاجِرِينَ ؟ فَقَالَ لَهُ عَبْدُ اللَّهِ :أَلَكَ امْرَأَةٌ تَأْوِي إِلَيْهَا ؟ قَالَ : نَعَمْ ، قَالَ أَلَكَ مَسْكَنٌ تَسْكُنُهُ ؟ قَالَ : نَعَمْ قَالَ : فَأَنْتَ مِنْ الْأَغْنِيَاءِ ، قَالَ : فَإِنَّ لِي خَادِمًا ، قَالَ : فَأَنْتَ مِنْ الْمُلُوكِ» [مسلم برقم 2979].
ความว่า “ มีชายผู้หนึ่งมาขอรับบริจาคทานจากท่าน พร้อมกับพูดว่า พวกเราเป็นคนยากจนจากบรรดาผู้ที่อพยพมิใช่หรือ ? อับดุลลอฮฺจึงถามไปว่า คุณมีภรรยามิใช่หรือ ? ชายผู้นั้นตอบว่า ใช่ครับ และคุณมีที่อยู่อาศัยแล้วมิใช่หรือ ? ชายผู้นั้นตอบว่า ใช่ครับ อับดุลลอฮฺจึงบอกเขาว่า ดังนั้นแสดงว่าท่านก็เป็นคนรวย ชายผู้นั้นบอกอีกว่า ฉันยังมีคนรับใช้อีก อับดุลลอฮฺจึงบอกเขาว่า ดังนั้น แสดงว่าท่านก็เป็นเหมือนพระราชาแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2979)
والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .