บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
Full Description
ไม่มีการบังคับเพื่อให้นับถืออิสลาม
لا إكراه في الدين
มัสลัน มาหะมะ
ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทย เว็บอิสลามเฮ้าส์
ที่มา : เว็บอิสลามมอร์
مزلان محمد
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ไม่มีการบังคับเพื่อให้นับถืออิสลาม
สามัญสำนึกอันดั้งเดิมของมนุษย์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ ความต้องการศาสนาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ผู้ที่ศึกษาอารยธรรมของมนุษย์จะพบว่า มนุษย์ในบางสังคมหรือบางช่วงเวลาไม่มีโรงงาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลหรือแม้แต่บ้านเพื่อเป็นแหล่งพักพิง แต่ไม่เคยปรากฏในสังคมใช้ชีวิตโดยปราศจากหอสวด ศาลเจ้า สถานศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์ของความเชื่อที่มีการเรียกขานด้วยชื่อต่างๆ ตามความศรัทธาของแต่ละสังคม จึงสรุปได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้หากปราศจากศาสนาและการศรัทธาในพระเจ้า ผู้ที่ปฏิเสธแนวคิดความเชื่อในพระเจ้า แท้จริงแล้วบุคคลผู้นั้นกำลังสร้างศาสนาใหม่และสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าแทน
อัลลอฮฺ I ได้ทรงส่งนะบีมุฮัมมัด e เพื่อธำรงไว้ซึ่งความกรุณาปรานีแก่มนุษย์
ดังที่อัลลอฮฺ I ได้ตรัสว่า
«وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ» (الأنبياء : 107 )
ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลจักรวาล” (21:107)
และเพื่อยืนยันในสัจธรรมดังกล่าว นะบีมุฮัมมัด e ได้กล่าวแก่ตนเองความว่า
"แท้จริง ฉันคือความเมตตาที่เป็นของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้กับสรรพสิ่งทั้งหลาย" (รายงานโดยอัดดาริมีย์)
ส่วนหนึ่งของความกรุณาปรานีของอัลลอฮฺ I คือ การให้โอกาสมนุษย์มีสิทธิเลือกและกำหนดวิถีชีวิตตามความประสงค์ของตนเอง โดยสภาวะดั้งเดิมมนุษย์ คือ สิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐสุดและมีเกียรติยิ่ง แม้นว่าจะแตกต่างด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ภาษาและฐานะทางสังคม
อัลลอฮฺ I ได้ตรัสว่า
«وَلَقَدْ كَرَّمْنَا بَنِي آدَمَ وَحَمَلْنَاهُمْ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ وَرَزَقْنَاهُم مِّنَ الطَّيِّبَاتِ وَفَضَّلْنَاهُمْ عَلَى كَثِيرٍ مِّمَّنْ خَلَقْنَا تَفْضِيلاً» (الإسراء : 70 )
ความว่า “และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดมาเป็นส่วนใหญ่” (อัลกุรอาน 17:70)
มนุษย์เป็นมัคลูก (สิ่งถูกสร้าง) ที่มีสติปัญญา มีเป้าหมายแห่งชีวิต เป็นมัคลูกที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกกำหนดไว้ มนุษย์มีสถานะและบทบาทอันทรงเกียรติ เขาจะถูกสอบสวนในการปฏิบัติหน้าที่ในวันอาคิเราะฮ์ (โลกหน้า) มนุษย์มีสิทธิ์เลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์มีความพร้อมที่จะกระทำสิ่งดีและไม่ดี มนุษย์จึงไม่ใช่มลาอิกะฮฺ (เหล่าเทวทูต) ที่อัลลอฮฺ I ทรงสร้างขึ้นเพื่อให้กระทำความดี เนื่องจากมลาอิกะฮฺเป็นมัคลูกที่ไม่มีอารมณ์และปราศจากความต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์มิใช่ชัยฏอน (เหล่ามารร้าย) ที่หมกมุ่นและจมปลักในการปฏิบัติแต่เพียงความชั่วร้ายและสิ่งอบายมุขทั้งมวล
อัลลอฮฺ I ได้ทำให้มนุษย์รู้จักกำหนดวิถีชีวิตโดยอาศัยการเรียนรู้และการพัฒนา อัลลอฮฺ I ทรงแนะนำและส่งเสริมให้มนุษย์ทำคุณงามความดี พระองค์ทรงตักเตือนและห้ามปรามมิให้จมปลักในความชั่วร้าย
อัลลอฮฺ I ได้ตรัสไว้ว่า
«وَهَدَيْنَاهُ النَّجْدَيْنِ» (البلد : 10 )
ความว่า “และเราได้ชี้แนะทางแห่งความดี และความชั่วแก่เขาแล้ว” (อัลกุรอาน 90:10)
อัลลอฮฺ I จึงให้มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อผลของการเลือกของเขา ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพ หากปราศจากเสรีภาพ ความรับผิดชอบก็ไร้ความหมาย ด้วยเหตุที่มนุษย์มีอิสรภาพ รู้จักแสวงหาและสะสมความรู้และประสบการณ์ มีศักยภาพในการตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด ตลอดจนมีโอกาสในการแก้ตัว ปรับปรุงและขอลุแก่โทษในความผิดพลาดทั้งปวง มนุษย์จึงมีฐานะที่สูงส่งกว่าสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย และนี่คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดาเทวทูต (มลาอิกะฮ์) ยอมก้มคารวะ (สุญูด) เพื่อแสดงความเคารพต่อนะบีอาดัม อะลัยฮิสลาม ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยอัลกุรอาน
มุสลิมทุกคนมีหน้าที่สืบทอดภารกิจของเหล่าศาสนทูตด้วยการให้เกียรติแก่มนุษย์ โดยให้มนุษย์มีอิสระเสรี และศักดิ์ศรีอันเหมาะสมกับสถานะและบทบาทอันแท้จริง มุสลิมทุกคนต้องใช้ความพยายามในการชี้แจงความถูกต้องและสัจธรรม ตักเตือนมิให้ทำสิ่งชั่วร้าย แต่ทั้งนี้มุสลิมพึงสำนึกว่า มนุษย์มีสิทธิ์ในการเลือกทางเดินชีวิตของตน การกดขี่บังคับ ถือเป็นการลดศักดิ์ศรีและไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อิสลามจึงกำหนดให้มุสลิมประกาศญิฮาด (การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ I ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของการกดขี่บังคับมิให้ปฏิบัติตามศาสนา (ซึ่งถูกเรียกในอัลกุรอานว่าเป็นฟิตนะฮฺประการหนึ่ง)
ดังที่อัลลอฮฺ I ได้ตรัสว่า
«وَقَاتِلُوهُمْ حَتَّى لاَ تَكُونَ فِتْنَةٌ» (البقرة : 193 )
ความว่า “และจงสู้รบกับพวกเขา จนกว่าฟิตนะฮฺจะไม่ปรากฏขึ้น” (อัลกุรอาน 2:193)
ฟิตนะฮฺ ตามความหมายคือ การบังคับมิให้มนุษย์มีสิทธิปฏิบัติหรือเชื่อศรัทธาในสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา และการปิดโอกาสมิให้มีสิทธิเลือกกระทำตามที่ต้องการ อิสลามถือว่า การกระทำฟิตนะฮฺ มีผลกระทบที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการฆาตรกรรม เพราะฆาตรกรรมเป็นการปลิดชีวิตที่เป็นกายภาพ แต่การกระทำฟิตนะฮ์ถือเป็นอาชญากรรมด้านความรู้สึกและจิตใจ
อัลลอฮฺ I ได้ตรัสว่า
«وَالْفِتْنَةُ أَكْبَرُ مِنَ الْقَتْلِ» (البقرة : 217 )
ความว่า “และการฟิตนะฮฺนั้นใหญ่โตยิ่งกว่าการฆ่า” (อัลกุรอาน 2:217)