Full Description
บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา
ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
دروس من خطبة النبي صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم في حجة الوداع
อัสมัน อับดุรรอชีด แตอาลี
عزمن عبدالرشيد تي علي
ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
مراجعة: صافي عثمان
บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา(หัจญ์ อัล-วะดาอฺ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
คุฏบะฮฺวันศุกร์ที่ 30 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1429/ 28 พฤศจิกายน 2551
ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี
โดย อ.อัสมัน แตอาลี
แผนกวิชากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี
إن الحمد لله نحمده ونستعينه ونستغفره ونتوب إليه، ونعوذ بالله من شرور أنفسنا وسيئات أعمالنا، من يهده الله فلامضل له، ومن يضلل فلاهادي له، وأشهد أن لا إله الا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، اللهم صل على نبينا محمد وعلى آله وصحبه ومن دعا بدعوته إلى يوم الدين، أما بعد، فقال الله تعالى: «ياأيها الذين آمنوا اتقواالله حق تقاته ولا تموتن الا وأنتم مسلمون».
พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัตที่มีเกียรติทั้งหลาย
ขณะนี้เรากำลังย่างก้าวเข้าสู่เดือนซุลฮิจญะฮฺแล้ว อัลฮัมดุลิลละฮฺ เราต้องขอชูโกรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงประทานโอกาสให้เราจะได้ทำอามัลอิบาดะฮฺ ในสิบวันแรกอันประเสริฐของเดือนซุลหิจญะฮฺนี้ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشْرِ فَقَالُوا يَا رَسُولَ اللَّهِ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ(أخرجه البخاري: 916، الترمذي: رقمه 688)
ความว่า : ไม่มีการปฎิบัติอามาลศอลิฮในวันใดที่อัลลอฮฺ ทรงโปรดมากไปกว่า การปฎิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ มีเศาะฮาบะฮฺถามขึ้นว่า แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า ถูกต้อง แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ เว้นแต่ว่าผู้นั้นได้ออกไปญิฮาดด้วยตัวของเขา และทรัพย์สินของเขาเอง แล้วเสียชีวิตในสมรภูมิ
ดังนั้นเราจึงควรถือโอกาสนี้ในการทำอามัลอิบาดะฮฺให้มากๆ อาทิเช่น การถือศีลอด การอ่านอัลกุรอาน การบริจาคทาน และการซิกิรฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราควรถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ คือวันที่เก้า ซุลหิจญะฮฺ เนื่องจากว่าผู้ที่ถือศีลอดในวันดังกล่าวนี้จะได้รับการลบล้างบาปในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป ตามหะดีษที่รายงานโดยอะบีเกาะตาดะฮฺ อัลอันศอรีย์ ระบุว่า
سُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ وَالْبَاقِيَةَ (أخرجه مسلم: 1977)
ความว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ท่านกล่าวว่า จะทำให้ลบล้างบาปในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป
พี่น้องที่เคารพรักทุกท่าน
ในช่วงต้นของเดือนซุลหิจญะฮฺ นี้อีกเช่นกัน ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ได้ทรงประทาน อิบาดะฮฺหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในรุกนอิสลามที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถต้องปฏิบัติเพื่อสนองพระบัญชาของพระองค์ นั้นก็คือหัจญ์ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
( وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلا ) [سورة آل عمران: 97]
ความว่า และเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์ นั่นคือการมุ่งสู่ไปยังบ้านของพระองค์(เพื่อประกอบพิธีหัจญ์)ที่ได้บัญญัติขึ้นสำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปยังบ้านหลังนั้นได้
และท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
أَيُّهَا النَّاسُ قَدْ فَرَضَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ الْحَجَّ فَحُجُّوا (أخرحه مسلم :رقم 2380)
ความว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้พิธีหัจญ์เป็นฟัรฎูสำหรับพวกท่านแล้ว ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติเถิด
พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาทั้งหลาย
เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายวันที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมจากบ้านเราและจากทั่วทุกมุมโลก ต่างก็ทยอยเดินทางสู่บ้านของอัลลอฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมักกะฮฺ เพื่อประกอบพิธีหัจญ์ และการประกอบพิธีหัจญ์นั้นก็จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นวันตัรวิยะฮฺ ณ ทุ่งมีนา วันที่ 9 ก็เดินทางไปวูกุฟ ณ ทุ่งอารอฟะฮฺ และวันที่ 10 ก็จะกลับมาที่ทุ่งมีนาอีกครั้งเพื่อขว้างเสาหิน หลังจากที่ได้พักค้างคืนที่มุซดะลิฟะห์หนึ่งคืน และการประกอบพิธีอัจญ์ก็จะเสร็จสิ้นในวันที่ 13 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันตัชรีกที่ทุ่งมีนา ทั้งหมดนี้ก็คือระยะเวลาในการประกอบพิธีหัจญ์ที่บรรดาหุจญาจหรือผู้ประกอบพิธีหัจญ์ทุกคนต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และทรัพย์สินของตนในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนปรารถนานั้นก็คือ หัจญ์มับรูร หรือหัจญ์ที่ถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ เนื่องจากหัจญ์มับรูรนั้นไม่มีสิ่งตอบแทนใดนอกจากสวนสวรรค์ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
وَالْحَجُّ الْمَبْرُورُ لَيْسَ لَهُ جَزَاءٌ إِلَّا الْجَنَّةُ (البخاري:1650)
ความว่า และหัจญ์มับรูรนั้นไม่มีสิ่งตอบแทนอย่างอื่นนอกจาก สวนสวรรค์เท่านั้น
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน
เมื่อเราพูดถึงอิบาดะฮฺหัจญฺ์แล้ว เราควรที่จะระลึกถึงหัจญ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามที่มีท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นอามิรุลหัจญ์ หรือผู้นำในการประกอบพิธีหัจญ์ซึ่งเป็นหัจญ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่สิบของฮิจเราะฮฺศักราช ในการประกอบพิธีหัจญ์ครั้งนี้ได้มีเศาะฮาบะฮฺเข้าร่วมประกอบพิธีหัจญ์กับท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมประมาณสี่หมื่นคน บางทัศนะระบุว่าหนึ่งแสนกว่าคน และในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมนี้ หลายต่อหลายคนเคยต่อต้านและเคยปฎิเสธท่าน นบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แต่ ณ วันนี้ วินาทีนี้ทุกคนต่างยอมรับ และศรัทธาต่อท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อย่างจริงใจและภาคภูมิใจ บรรดาอุลามาอ์ได้เรียกหัจญ์ครั้งนี้ว่า حجة الوداع หรือ หัจญ์อำลา เนื่องจากว่า ในการประกอบพิธีหัจญ์ครั้งนี้ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สั่งเสียอะไรหลายๆอย่าง ในคุฎบะฮฺอันทรงคุณค่าของท่าน ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชาติอิสลาม ซึ่งรวมทั้งที่เข้าร่วมกับท่านในขณะนั้นตลอดจนประชาชาติของท่านในปัจจุบันนี้ด้วย และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจหัจญันั้นไม่นาน ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุตะอะลา และพระองค์ก็ได้ทรงการันตีและทรงยอมรับในความสมบูรณ์แบบของอัลอิสลาม ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
(الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا) (المائدة:3)
ความว่า วันนี้เราได้ให้ความสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และเราได้ให้ครบถ้วนแล้วแก่พวกเจ้าซึ่งความกรุณา และเมตตาของเรา แก่พวกเจ้า และเราได้ยอมรับแล้วว่าอิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้า
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน
สำหรับสถานที่คุฏบะฮฺสุดท้ายของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมนี้ นักวิชาการบางคนมีทัศนะว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้คุฏบะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ในขณะที่บางคนมีทัศนะว่าเกิดขึ้นในวันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา และมีบางทัศนะระบุว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้คุฏบะฮฺสามครั้งด้วยกัน
ครั้งที่หนึ่ง วันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ
ครั้งที่สอง วันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา
ครั้งที่สาม วันที่สองของวันตัชรีกณ ทุ่ง มินา
(ดู เศาะฮีหฺบุคอรีย์ หมายเลข 1655, มุสลิม 6/245 หมายเลข 2137)
พี่น้องผู้มีเกียรติที่เคารพรักทุกท่าน
สำหรับคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมหรือที่นักวิชาการอิสลามเรียกว่า อัลวะศอยา อันนะบะวียะฮฺ (الوصايا النبوية) ในคุฏบะฮฺของท่าน ถือเป็นคำสั่งเสียที่สำคัญยิ่งสำหรับประชาชาติอิสลามทุกยุคทุกสมัย ที่พวกเราทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ นำมาคิด ไตร่ตรอง และนำมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต ซึ่งมีเนื้อหามากมายทั้งที่เกี่ยวกับอะกีดะฮฺ(หลักความเชื่อ) สังคม เศรษฐกิจ และสิทธิต่างๆทางกฎหมาย อันเป็นบทเรียนที่พอจะสรุปได้ดังนี้
ประการที่ 1. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เริ่มต้นด้วยประโยคที่บ่งบอกถึงเป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้ายของท่าน ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
أيّهَا النّاس، اسْمَعُوا منّي أُبّينْ لَكُمْ، فَإنّيَ لاَ أَدْرِي، لعَليّ لاَ أَلْقَاكُمْ بَعْدَ عَامي هَذَا، في مَوْقِفي هذا.
ความว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย จงสดับรับฟังคำสั่งเสียจากฉันเถิด ฉันจะแจ้งให้พวกท่านทั้งหลายได้รับทราบ เพราะฉันเองก็ไม่รู้ว่า บางทีฉันอาจจะไม่มีโอกาสพบกับพวกท่านหลังจากปีนี้ ในสถานที่แห่งนี้อีก
ประการที่ 2. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมก็ได้ประกาศในวันนั้นถึงสิทธิของมุสลิมที่เกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและเป็นที่ต้องห้าม ผู้ใดก็ตามก็ไม่สามารถที่จะละเมิดได้ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
أَيُهَا النَّاس، إنّ دِمَاءَكُمْ وَأمْوَالَكُمْ وأعراضكم حَرَامٌ عَليكُمْ إلى أنْ تَلْقَوْا رَبَّكُمْ، كَحُرمَةِ يَوْمِكُمْ هَذَا في شَهْرِ كُمْ هَذَا في بَلَدِكُم هَذَا، أَلاَ هَلْ بَلَّغتُ، اللّهُمّ اشْهَدْ. فَمَنْ كَانَتْ عِنْدَهُ أَمَانةٌ فليؤُدِّها إلى مَنْ ائْتمَنَهُ عَلَيها.
ความว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลายแท้จริงชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของพวกท่านเป็นที่ต้องห้ามตราบจนถึงวันที่พวกท่านจะพบกับอัลลอฮฺ (ในวันอาคีเราะฮฺ) เฉกเช่นเดียวกัน วันนี้ เดือนนี้ และเมืองนี้ก็เป็นที่ต้องห้าม โอ้อัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งให้พวกเขารู้แล้ว และผู้ใดก็ตามที่ได้รับอะมานะฮฺเพื่อมอบคืนทรัพย์สิน ก็จงส่งมอบคืนให้แก่เจ้าของ(ผู้ที่มอบอะมานะฮฺ)ด้วย
จากคุฏบะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมประโยคนี้เราสามารถเข้าใจได้ว่าเลือดหรือชีวิตของมุสลิมทุกคนนั้นมีค่ามหาศาลยิ่งนัก บุคคลอื่นหรือใครก็ตามจะมาทำลายไม่ได้เป็นอันขาด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม อิสลามได้กำหนดมาตรการและบทบัญญัติต่างๆเพื่อคุ้มครองชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿و لا تقتلوا أنفسكم إن الله كان بكم رحيما﴾ (النساء:29)
ความว่า และพวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ
อัลลอฮฺตรัสอีกว่า
﴿و لا تقتلوا النفس التي حرم الله إلا بالحق﴾ (الأنعام:151)
ความว่า และพวกเจ้าทั้งหลายอย่าฆ่าชีวิตผู้อื่นที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น
และผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ อิสลามก็กำหนดให้มีการลงโทษทางอาญาโดยผ่านกระบวนการศาล ดังที่อัลลอฮฺไดตรัสว่า
﴿وَلَكُمْ فِي الْقِصَاصِ حَيَاةٌ يَا أُوْلِي الأَلْبَابِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ﴾) البقرة:179 (.
ความว่า และการประหารชีวิตฆาตกรนั้น คือการรักษาและคุ้มครองชีวิตพวกเจ้า โอ้ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง
นี่คือกฎหมายจากพระผู้เป็นเจ้าอันมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคมโลกจึงจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้ หากไม่แล้วก็จะมีการใช้ศาลเตี้ย ล้างแค้นกัน แก้แค้นกันไม่จบไม่สิ้น เกิดความโกลาหลและวุ่นวายขึ้นในบ้านในเมือง ดังนั้นก่อนที่จะใช้อารมณ์ชั่ววูบ จงคิดไตร่ตรองให้ดีถึงผลที่จะตามมา และจงให้ความเมตตาซึ่งกันและกัน ตามที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«مَنْ لَا يَرْحَمُ لَا يُرْحَمُ»
ความว่า ผู้ใดก็ตามที่ไม่มีความเมตตา เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา (บันทึกโดยบุคอรีย์ 5538)
สำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินนั้น อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติห้ามการลักขโมย และมีบทลงโทษทางอาญาด้วยการตัดมือ ซึ่งก็จะต้องดำเนินตามขั้นตอนของศาลและเงื่อนไขต่างๆของกฎหมาย นอกจากบทลงโทษแล้ว อิสลามยังมอบสิทธิให้แก่เจ้าของทรัพย์สินในการปกป้องทรัพย์สินของตนเองที่ได้ตรากตรำลำบากจากการทำงานกว่าจะได้มา ถึงแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ดังหะดีษบทหนึ่งในเศาะฮีหฺมุสลิม หมายเลข 201 รายงานโดยท่านอะบูฮุร็อยเราะฮฺ
جَاءَ رَجُلٌ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ أَرَأَيْتَ إِنْ جَاءَ رَجُلٌ يُرِيدُ أَخْذَ مَالِي، قَالَ: فَلا تُعْطِهِ مَالَكَ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَاتَلَنِي، قَالَ : قَاتِلْهُ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَتَلَنِي، قَالَ: فَأَنْتَ شَهِيدٌ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَتَلْتُهُ، قَالَ: هُوَ فِي النَّارِ.
ความว่า ชายคนหนึ่งได้ไปหาท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วถามว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ หากมีใครคนหนึ่งจะมาปล้นทรัพย์สินของฉัน ท่านนบีตอบว่า ท่านจงอย่ายินยอม ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากเขาต่อสู้ฉัน ท่านนบีตอบว่า ท่านก็จงสู้กับเขา ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากเขาฆ่าฉันตาย ท่านนบีก็ตอบว่า ท่านก็ตายชะฮีด ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากฉันฆ่าเขาตายล่ะ ท่านนบีก็ตอบว่า เขาก็จะตกนรก
สำหรับการคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น อิสลามก็ได้กำหนดมาตรการและบทลงโทษต่อผู้ที่ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ด้วยการโบยแปดสิบครั้ง เพราะถือว่าการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นมีเจตนาที่จะทำลายเกียรติและศักดิ์ศรี อันมีผลทำให้ผู้ที่ถูกใส่ร้ายใช้ชีวิตในสังคมอย่างไม่ปกติสุข ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำชับเรื่องนี้ว่า
«الْمُسْلِمُ مَنْ سَلِمَ الْمُسْلِمُونَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ» (أخرجه البخاري:9)
ความว่า มุสลิมคือผู้ที่ทำให้บรรดามุสลิมได้รับความปลอดภัยจากลิ้น(คำพูด)และมือ(การกระทำ)ของเขา
ประการที่ 3. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังได้ประกาศในวันนั้นถึงการเอารัดเอาเปรียบและการมีดอกเบี้ยมากเกี่ยวข้องในการซื้อขายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม คือประโยคที่ว่า
وإنّ كلَّ ربا موضوعٌ ولكن لكم رؤوسُ أموالكم لا تَظلِمون ولا تُظلَمون
ความว่า และแท้จริงดอกเบี้ยทุกชนิด ทุกประเภทได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ที่คงไว้ก็คือ ต้นทุนที่พวกท่านสามารถแบ่งปันกำไรให้กันได้ ดังนั้นพวกท่านจงอย่าทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบในหมู่พวกท่าน
จากประโยคนี้ จะเห็นได้ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้ห้ามระบบดอกเบี้ยทุกประเภท และกิจการทางธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ตกต่ำก็เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการอิสลามอันนี้ การกำหนดให้มีดอกเบี้ยเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องล้มละลาย ติดหนี้ติดสิน หมดเนื้อหมดตัว เจ้าหนี้ตามล่าลูกหนี้ บางคนถูกฆ่าบางคนก็ฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีปัญญาชำระหนี้ได้
หากพิจารณาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายคนคงได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ประเด็นฮ็อต ที่เป็นที่จับตามองสืบเนื่องมาตั้งแต่ในปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มีนักวิเคราะห์หลายคนได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังถดถอยในช่วงนี้ หลายคนมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งคล้ายกับในปี 2544 แต่ครั้งนี้มีความซับซ้อนและเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า
ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Sub prime) ซึ่งเริ่มสะสมมาตั้งแต่ปี 2547 ต้นเหตุของวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาลดต่ำลงมาก ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดินมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากการคาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก โดยหวังว่าอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในขณะนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาคาดว่าอสังหาริมทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นจนหลักประกันคุ้มมูลหนี้ จึงมีการปล่อยเงินกู้ที่มีเงื่อนไขให้ผู้กู้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ยในช่วง 3-4 ปีแรก แล้วค่อยชำระเงินต้นคืนในภายหลัง แทนการที่ต้องชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นไปพร้อมๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เติบโตตามที่มีการคาดการณ์ไว้และมีราคาตกลง ผู้กู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อหวังเก็งกำไรจึงต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ตามที่กำหนด ซึ่งกลายเป็นหนี้เสียในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยการขาดทุนอย่างมหาศาลของธนาคารยักษ์ใหญ่ของอเมริกา หรือ ซิตี้กรุ๊ป
นี่คือผลลัพธ์ ของระบบดอกเบี้ยที่เป็นตัวทำลายเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮาฯได้ทรงห้ามไว้ว่า
﴿وَأَحَلَّ اللَّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا﴾ (البقرة: 275)
ความว่า และอัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติการซื้อขายและทรงห้ามการกินดอกเบี้ย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 275)
ประการที่ 4. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำชับให้มุสลิมห่างไกลจากการตกเป็นทาสของชัยฏอนมารร้าย ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
أيها الناس إن الشيطان قد يئس أن يُعْبد في أرضكم هذه، ولكنه قد رضي أن يٌطاع فيما سوى ذلك مما مما تَحقِرون من أعمالكم، فاحذروه على دينكم.
ความว่า ท่านทั้งหลาย แท้จริงชัยฏอนมารร้ายนั้นหมดหวังแล้วกับการที่จะได้รับการบูชาในโลกนี้ แต่มันก็ไม่หมดหวังที่จะได้รับการเชื่อฟังที่นอกเหนือจากนั้น หรือมันยังมีความหวังที่จะเป็นผู้มีอำนาจครอบงำพวกท่าน ทำให้พวกท่านดูถูกดูแคลนและไม่ให้ความสำคัญในการงานหรืออามัลที่ดีทั้งหลายหรือรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งไร้ค่า ดังนั้นท่านทั้งหลายจงดูแลรักษาและคุ้มครองศาสนาของพวกท่านให้ดี
จากประโยคนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าชัยฏอนมารร้ายคือศัตรูตัวฉกาจของเรา และมันรู้ตัวเองดีว่ามันไม่สามารถทำให้มุสลิมบูชามันได้ แต่มันก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถยั่วยุ ล่อลวง และครอบงำให้มุสลิมไขว้เขวได้ ทำให้มุสิลมบางคนเดินตามการชักนำของมัน และในที่สุดก็ตกเป็นทาสเป็นสมุนของมัน ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังตัวจากการล่อลวงของชัยฏอนที่เป็นญินและมนุษย์ อัลลอฮฺได้ทรงห้ามมิให้เราตกเป็นเครื่องมือของพวกมัน พระองค์ตรัสว่า
﴿..... وَلا تَتَّبِعُوا خُطُوَاتِ الشَّيْطَانِ إِنَّهُ لَكُمْ عَدُوٌّ مُبِينٌ ، إِنَّمَا يَأْمُرُكُمْ بِالسُّوءِ وَالْفَحْشَاءِ وَأَنْ تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ مَا لا تَعْلَمُونَ ﴾ (البقرة: من الآيتين 168- 169.(
ความว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าเดินตามแนวทางของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูของพวกเจ้าที่ชัดแจ้ง ที่จริงมันเพียงแต่จะใช้พวกเจ้าให้กระทำสิ่งชั่วและสิ่งลามกเท่านั้น และจะใช้พวกเจ้ากล่าวความเท็จให้แก่อัลลอฮฺ ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้
ประการที่ 5. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมยังได้ประกาศในวันนั้นในเรื่องของสิทธิของสามีภรรยา และสิทธิของสตรีทั่วไป และ ในประโยคที่ว่า
أَيُّها النَّاس، إن لِنسَائِكُمْ عَلَيْكُمْ حقاً، ولَكُمْ عَلَيْهِنّ حقّ، لَكُمْ عَليِهنّ ألا يُوْطِئْنَ فُرُشَكُمْ غيرَكم، وَلا يُدْخِلْنَ أحَداً تكرَهُونَهُ بيوتَكُمْ، ولا يأتينَ بِفَاحِشَة، فإنْ أطَعْنَكُمْ فَعَلَيْكُمْ رِزقُهنَّ وكسوتُهُنَّ بالمَعْرُوفِ فاتّقُوا اللهَ في النسَاء، واسْتوْصُوا بهنَّ خَيْراً، أَلاَ هَلْ بلّغت: اللّهم اشهدْ.
ความว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะต้องให้สิทธิแก่บรรดาภรรยาของพวกท่าน และเป็นหน้าที่ของพวกนางที่จะต้องมอบสิทธิแก่พวกท่าน และเป็นสิทธิของพวกท่านอีกเช่นกันที่สามารถห้ามไม่ให้พวกนางมีพฤติกรรมชู้สาวกับชายอื่น และหน้าที่ของพวกนางที่จะต้องไม่ยินยอมให้ชายอื่นเข้ามาในบ้านของพวกท่าน และหากพวกนางเชื่อฟังพวกท่าน พวกท่านก็ต้องมอบสิทธิในเรื่องค่าปัจจัยยังชีพและเครื่องนุ่งห่มต่างๆด้วยความเป็นธรรม ท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺในเรื่องการดูแลบรรดาสตรีทั้งหลาย และจงให้คำตักเตือนที่ดีๆ แก่พวกนางด้วย ฉันได้กล่าวจนแจ้งแล้วหรือไม่
จากประโยคข้างต้นท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำชับพวกเราในเรื่องหน้าที่หรือบทบาทของสถาบันครอบครัวที่ประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นคือสามี และสมาชิกในครอบครัวนั่นคือภรรยาและลูกๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีสิทธิที่พึงจะได้รับและหน้าที่ที่จะต้องสนองตอบ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จะต้องมอบสิทธิให้แก่ภรรยาในฐานะสามีและให้แก่ลูกๆ ในฐานะผู้เป็นพ่อ ต่างคนต่างต้องเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน สังคมปัจจุบันที่เสื่อมทรามและเหลวแหลกก็เพราะเกิดจากสถาบันครอบครัวที่อ่อนแอและขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ภรรยาขาดความรักความเข้าใจจากสามีหนีไปมีชู้ ลูกๆขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่หนีไปติดยาเสพติด ไปมั่วสุมทางเพศ บางคนถึงขนาดตั้งครรภ์โดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก จำเป็นจะต้องทำแท้ง หรือไม่ก็ทิ้งเด็กตามถังขยะข้างๆถนน บ่อยครั้งที่เราพบเหตุการณ์เหล่านี้ ดังนั้นไม่มีทางแก้ที่ดีที่สุดนอกจากจะต้องกลับมาพิจารณาและทบทวนบทบาทของสถาบันครอบครัวที่ตนเองรับผิดชอบว่า สมาชิกทุกคนปฏิบัติตนอยู่ในหลักการของอิสลามหรือไม่
สำหรับสตรีทั่วไปอาจกล่าวได้ว่าในอดีตหมายถึงในสมัยญาฮีลียะฮฺ ผู้หญิงถูกทอดทิ้งจากสังคม เป็นคนที่ไร้ค่า ไม่มีสิทธิใดๆเลย ที่จะได้รับดังที่ผู้ชายได้รับ อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า
﴿وَإِذَا بُشِّرَ أَحَدُهُمْ بِالأُنثَى ظَلَّ وَجْهُهُ مُسْوَدًّا وَهُوَ كَظِيمٌ (58) يَتَوَارَى مِنْ الْقَوْمِ مِنْ سُوءِ مَا بُشِّرَ بِهِ أَيُمْسِكُهُ عَلَى هُونٍ أَمْ يَدُسُّهُ فِي التُّرَابِ أَلا سَاءَ مَا يَحْكُمُونَ 59﴾ (النحل).
ความว่า และเมื่อคนใดคนหนึ่งในหมู่ได้รับข่าวว่าได้ลูกผู้หญิง ใบหน้าของเขาก็กลายเป็นหมองคล้ำและเศร้าสลด เขาจะซ่อนตัวเองจากกลุ่มชน เนื่องจากความอับอายที่ได้ถูกแจ้งแก่เขา เขาจะเก็บมันเอาไว้ด้วยความอัปยศหรือฝังมันไว้ในดิน พึงรู้เถิดว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินไปนั้นมันชั่วช้าจริงๆ
แต่หลังจากที่อิสลามได้มาถึง ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงได้รับการดูแลและคุ้มครองในเรื่องสิทธิต่างๆทัดเทียมกับผู้ชาย ตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการตอบแทนที่จะได้รับทั้งโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿وَمَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِنْ ذَكَرٍ أَوْ أُنْثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَأُوْلَئِكَ يَدْخُلُونَ الْجَنَّةَ يُرْزَقُونَ فِيهَا بِغَيْرِ حِسَابٍ﴾). غافر: من الآية 40(
ความว่า และผู้ใดกระทำความดีจากเพศชายและเพศหญิงก็ตาม และเขาเป็นผู้ศรัทธาด้วย ชนเหล่านั้นแหละจะได้เข้าสวนสวรรค์ จะได้รับปัจจัยยังชีพในนั้น โดยไม่อาจที่จะคำนวณได้
ประการที่ 6. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำชับให้ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รักใคร่ปรองดองกัน ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
أَيهَا النّاسُ، إنّما المُؤمِنُونَ إخْوةٌ ، فَلاَ يَحِلُّ لامْرِىءٍ مَالُ أَخيهِ إلاّ عَنْ طيبِ نفْسٍ منهُ، أَلاَ هَلْ بلّغْتُ، اللّهُم اشْهَدْ.
ความว่า ท่านทั้งหลาย แท้จริงบรรดาศรัทธาชนนั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นไม่อนุญาตให้มีการละเมิดทรัพย์สินของพี่น้องของเขา เว้นแต่จะได้รับความยินยอม โอ้อัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งให้พวกเขารู้แล้ว
จากประโยคนี้ถือว่าเป็นคำสั่งเสียที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมมีความห่วงใยต่อประชาชาติของท่าน เกรงว่าจะเกิดการแตกแยกและทะเลาะเบาะแว้งกันหรืออาจถึงขั้นเป็นศัตรูต่อกัน ดังนั้นท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมจึงย้ำเตือนอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆหะดีษก่อนหน้านี้ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«لَا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ»
ความว่า ความศรัทธา(อีมาน)ของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาเหมือนกับที่เขารักตัวของเขาเอง(บันทึกโดยบุคอรีย์ 12)
และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«لَا تَبَاغَضُوا وَلَا تَحَاسَدُوا وَلَا تَدَابَرُوا وَكُونُوا عِبَادَ اللَّهِ إِخْوَانًا»
ความว่า พวกท่านทั้งหลายจงอย่าโกรธเคืองกัน อย่าเกลียดชังกัน อย่าอิจฉาริษยากัน และอย่าทะเลาะกัน แต่ขอให้พวกท่านจงเป็นพี่น้องกัน(บันทึกโดยบุคอรีย์ 1411)
ประการที่ 7. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สั่งเสียให้มุสลิมยึดหลักการศาสนาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน เพราะท่านได้ยืนยันว่าประชาชาติของท่านจะไม่หลงทางอย่างแน่นอน ถ้าตราบใดยังยึดมั่นกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
فَإنّي قَدْ تَركْتُ فِيكُمْ مَا إنْ أخَذتمْ بِهِ لَمْ تَضِلُّوا بَعْدَهُ، كِتَابَ اللهِ وسنة نبيه، أَلاَ هَلْ بلّغتُ، اللّهمّ اشْهَدْ.
ความว่า ท่านทั้งหลายหลังจากที่ฉันไม่อยู่แล้ว จงอย่าได้กลับไปเป็นผู้ปฏิเสธ(กาเฟรฺ)อีก อันจะทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันระหว่างพวกท่านกันเอง และแท้จริงแล้วฉันได้ทิ้งไว้สำหรับพวกท่านอยู่สิ่งสองสิ่ง พวกท่านจะไม่หลงทางถ้าตราบใดพวกท่านยังยึดมั่นกับทั้งสองสิ่งนี้ นั้นก็คือกีตาบบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺนบีของพระองค์ ขออัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งแล้ว
จากคำสั่งเสียนี้ จะเห็นได้ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมไม่ได้ทิ้งไว้ให้แก่พวกเราซึ่งทรัพย์สมบัติหรือเงินทอง แต่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้ทิ้งไว้ให้แก่พวกเราซึ่งสิ่งที่มีค่าและความหมายยิ่งนัก นั่นคืออัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน
ประการที่ 8. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กำชับและสนับสนุนในเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา และสีผิวก็ตาม ไม่มีใครเหนือว่า หรือประเสริฐกว่า เว้นแต่ด้วยการตักวาเท่านั้น (ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ)
أيها النّاسُ إن رَبَّكُمْ وَاحِدٌ، وإنّ أَبَاكُمْ واحِدٌ ، كُلكُّمْ لآدمَ، وآدمُ من تُراب، أَكرمُكُمْ عندَ اللهِ أتْقَاكُمْ وليس لعربيّ فَضْلٌ على عجميّ إلاّ بالتّقْوىَ.
ความว่า ท่านทั้งหลาย แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านนั้นคือองค์เดียวกัน และบิดาของพวกท่านก็คนเดียวกัน พวกท่านทุกคนมาจากอาดัม และอาดัมก็มาจากดิน ผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ณ อัลลอฮฺ คือ ผู้ที่ตักวาที่สุด และใช่ว่าคนอาหรับจะดีเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่อาหรับ เว้นแต่ด้วยการตักวาเท่านั้น
และประการที่ 9. ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้สั่งเสียในเรื่องสิทธิของทายาทที่จะต้องได้รับจากการแบ่งมรดกและการคุ้มครองสายตระกูล
أيها الناس إنَّ الله قد قسّمَ لكلِّ وارثٍ نصيبَه من الميراث، ولا تجوز لوارثٍ وصيتُه ولا تجوز وصيةٌ في أكثرَ من الثلث، والولدُ للفراش وللعاهر الحجر. مَن ادَّعَى إلى غيرِ أبيه أو تولَّى غيرَ موالِيه فعليه لعنةُ الله والملائكة والناس أجمعين، فليبلغ الشاهد الغائب.
ความว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้กำหนดส่วนแบ่งของทายาทแต่ละคนจากกองมรดกอย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ทายาทได้รับวะศียัตหรือพินัยกรรมอีก และวะศียัตหรือพินัยกรรมก็จะต้องไม่เกินหนึ่งในสามจากกองมรดกทั้งหมด และลูกที่เกิดนอกสมรสนั้นเป็นสิทธิของผู้เป็นแม่ ไม่อาจสืบทอดจากผู้เป็นพ่อได้ และผู้ใดที่อ้างตนเป็นลูกของผู้ที่ไม่ใช่พ่อของตนหรือยอมรับผู้ที่ไม่ใช่ลูกของตนว่าเป็นลูกนั้น บุคคลดังกล่าวนี้จะถูกสาปแช่งจากอัลลอฮฺ บรรดามะลาอิกะฮฺ และมนุษย์ทั้งหลาย
คำสั่งเสียประการสุดท้ายของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมที่สรุปมา ณ ที่นี้ ถือว่าสำคัญมากๆ ซึ่งมีรายละเอียดสองสามข้อ ดังนี้
ข้อแรก ความสำคัญในการแบ่งกองมรดกให้เป็นไปตามกฎหมายอิสลาม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในการแย่งชิงมรดก ก็มาจากการแบ่งที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องนำบทบัญญัติของอัลลอฮฺมาบังคับใช้ และพระองค์ได้ทรงแจ้งข่าวดีสำหรับผู้ที่ฏิบัติตามและยังทรงแจ้งข่าวร้ายสำหรับผู้ที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ถึงบทลงโทษที่จะได้รับ พระองค์ตรัสว่า
﴿ تِلْكَ حُدُودُ اللَّهِ وَمَنْ يُطِعِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ يُدْخِلْهُ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الأنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا وَذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ (13) وَمَنْ يَعْصِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ وَيَتَعَدَّ حُدُودَهُ يُدْخِلْهُ نَارًا خَالِدًا فِيهَا وَلَهُ عَذَابٌ مُهِينٌ (14) ﴾ (سورة النساء)
ความว่า ทั้งหมดนั้น คือ ขอบเขต(บทบัญญัติ)ของอัลลอฮฺ ผู้ใดปฏิบัติตามอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงให้เขาเข้าสวนสวรรค์อันมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่เบื้องล่าง โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล และนั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ และผู้ใดฝ่าฝืนอัลลอฮฺและรอซูล และละเมิดบทบัญญัติของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงให้เขาเข้านรก โดยที่เขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล และเขาจะได้รับการลงโทษที่อัปยศยิ่ง
ข้อที่สอง มาตรการในคุ้มครองสายตระกูล ซึ่งตามหลักการอิสลามแล้วลูกๆทุกคนที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่แต่งงานถูกต้องตามบทบัญญัตินั้น จะสืบทอดสายตระกูลจากผู้เป็นพ่อโดยชอบธรรม แต่สำหรับลูกนอกสมรสหรือลูกซินานั้น ไม่อาจสืบทอดจากผู้เป็นพ่อได้แต่จะสืบทอดจากผู้เป็นแม่แทน อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิอื่นๆตามมาอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงได้วางมาตรการห้ามการผิดประเวณีหรือซินา อีกทั้งได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย เพราะการผิดประเวณีหรือซินานี้แหละที่เป็นตัวทำลายสายตระกูล ในขณะที่อิสลามได้กำหนดเป้าประสงค์ไว้ห้าประการหนึ่งในนั้นคือการคุ้มครองสายตระกูล ด้วยการแต่งงานที่ถูกต้องตามบทบัญญัติ
ข้อที่สาม ไม่อนุญาตให้มีการรับผู้อื่นเป็นลูกบุญธรรมอันมีฐานะเหมือนลูกจริง การที่อิสลามมีทัศนะเช่นนี้ถือว่าเป็นไปตามกฎธรรมชาติของมนุษย์ นั่นคือการกระทำของมนุษย์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางธรรมชาติได้ อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า
﴿وَمَا جَعَلَ أَدْعِيَاءَكُمْ أَبْنَاءَكُمْ ذَلِكُمْ قَوْلُكُمْ بِأَفْوَاهِكُمْ وَاللَّهُ يَقُولُ الْحَقَّ وَهُوَ يَهْدِي السَّبِيلَ﴾ (سورة الأحزاب: 4)
ความว่า และพระองค์ไม่ทรงบัญญัติให้ลูกบุญธรรมของพวกเจ้าเป็นลูกที่แท้จริงของพวกเจ้า (สิ่งที่พวกเจ้าเรียกขานว่าลูก)นั้นเป็นเพียงคำพูดจากปากของพวกเจ้าเอง และอัลลอฮฺจะดำรัสแต่เรื่องสัจจริงเท่านั้น และพระองค์จะทรงชี้นำแนวทางอันเที่ยงตรง
แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าอิสลามห้ามมิให้รับเด็กมาเลี้ยงฉันลูก โดยเฉพาะเด็กที่ขาดผู้ดูแลหรือเด็กที่เป็นผู้ด้อยโอกาส การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นที่น่ายกย่องและน่าสรรเสริญ แต่ที่อิสลามห้ามคือการให้เป็นลูกบุญธรรมที่มีสิทธิมีฐานะตามกฎหมายเหมือนลูกจริงทุกประการ
พี่น้องที่เคารพรักทุกท่าน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือบทเรียนและคำสอนที่ได้รับจากคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อว่าพวกเราทุกคน ณ ที่นี้ได้รับรู้และเข้าใจ ตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรมในลำดับต่อไป.
وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم.