บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
Full Description
ญินายาต (ความผิดฐานฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย)
﴿الجنايات﴾
الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري
ترجمة: رشدي كاريسا
مراجعة: صافي عثمان
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : รุสดี การีสา
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ญินายาต (ความผิดฐานฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย)
คำนิยาม ญินายาต คือ การทำร้ายร่างกายโดยเฉพาะ ซึ่งนำไปสู่บทลงโทษด้วยการกิศอศ (การประหารให้ตายตาม) หรือชดใช้ด้วยการจ่ายทรัพย์สิน หรือจ่ายกัฟฟาเราะฮฺด้วยสิ่งอื่น
จุดประสงค์ของการบัญญัติบทลงโทษด้วยการกิศอศ
อัลลอฮฺได้ทรงสร้างท่านนบีอาดัมด้วยพระหัตถ์ของพระองค์และทรงประทานเกียรติต่อท่านเหนือสิ่งอื่นใดทั้งมวล ทรงประทานความเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ผู้แทนที่ทำหน้าที่ปกครอง) บนโลกนี้เพื่อจุดประสงค์ที่สำคัญยิ่ง คือการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีการตั้งภาคี ทรงทำให้มวลมนุษย์ทั้งหมดกำเนิดมาจากเชื้อสายของท่าน ทรงแต่งตั้งศาสนทูตมายังพวกเขา ทรงบัญญัติคัมภีร์ต่างๆ ให้ เพื่อว่ามวลมนุษย์จะได้ทำการอิบาดะฮฺต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ทรงได้ให้คำมั่นสัญญาต่อชนผู้ศรัทธาทั้งหลายและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ด้วยสรวงสวรรค์ และได้สัญญากับชนผู้ปฎิเสธศรัทธา ผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามด้วยขุมนรก
แท้จริงในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น มีผู้ที่ให้การปฎิเสธต่อผู้ที่เรียกร้องสู่การศรัทธาเนื่องจากมีความศรัทธาที่หย่อนยาน และยังได้ดูถูกต่อผู้ปกครองเนื่องจากความเบาปัญญา ทำให้ชนกลุ่มนี้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียกร้องไปสู่การกระทำในสิ่งต้องห้าม และนำไปสู่การทำร้ายผู้อื่นทั้งทางร่างกาย เกียรติยศ และทรัพย์สิน
ด้วยเหตุดังกล่าว อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติบทลงโทษในโลกดุนยา เพื่อยับยั้งมนุษย์ไม่ให้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ เนื่องจากว่า เพียงแค่การสั่งหรือห้ามโดยไม่มีบทลงโทษนั้นไม่เพียงพอต่อการที่จะให้มนุษย์บางกลุ่มหยุดยั้งการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและให้อยู่ในขอบเขตที่อัลลอฮฺทรงวางไว้ ซึ่งหากไม่มีการลงโทษแล้ว แน่นอนว่าต้องมีมนุษย์มากมายที่อาจหาญก่ออาชญากรรมและสิ่งต้องห้าม และทำเล่นๆ กับคำสั่งใช้ต่างๆ
ในการบัญญัติบทลงโทษนั้น เป็นการป้องกันรักษาชีวิตและสิทธิของมนุษยชาติ เป็นการหักห้ามจิตใจอันชั่วร้าย และเตือนหัวใจที่กระด้างของมนุษย์บางกลุ่มที่ไร้ซึ่งความเมตตาและความสงสาร
แท้จริง การนำบทบัญญัติการลงโทษด้วยการกิศอศไปปฏิบัตินั้น เป็นปัจจัยให้หยุดการฆ่าฟัน และความเป็นศัตรูกัน เป็นเสมือนกำบังให้กับสังคม เป็นการให้ชีวิตแก่ประชาชาติ เป็นการป้องกันการหลั่งเลือด เป็นการบำบัดรักษาจิตใจบรรดาญาติๆ ของเหยื่อผู้ถูกฆ่า เป็นการแสดงถึงความเป็นธรรมและสันติสุขอย่างแท้จริง เป็นการปกป้องมนุษย์จากความเดรัจฉานของอาชญากรที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และกระจายความหวาดกลัวในสังคม อีกทั้งยังเป็นเหตุให้บรรดาสตรีต้องเป็นหม้ายและบรรดาเด็กๆ ต้องกำพร้า
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(ﯔ ﯕ ﯖ ﯗ ﯘ ﯙ ﯚ ﯛ ﯜ) [البقرة / 179 ]
ความว่า “และในการประหารฆาตกรให้ตายตามนั้น(การกิศอศ) คือการดำรงไว้ซึ่งชีวิตสำหรับพวกเจ้า โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 179)
· แท้จริง โลกมนุษย์นี้มิได้เป็นโลกแห่งการตัดสิน ทว่าที่แห่งการตัดสินนั้นคือโลกอาคิเราะฮฺ เพียงแต่การบัญญัติบทลงโทษนั้นมีขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคม และเป็นการป้องกันมิให้เกิดบ่อนทำลาย ความเป็นศัตรู และการอธรรมในหมู่มนุษย์
ปัจจัยแห่งความจำเป็นทั้งห้าประการ
อิสลามได้ให้ความสำคัญในการพิทักษ์รักษาความจำเป็นหรือปัจจัยทั้งห้าประการ ซึ่งเป็นที่พ้องต้องกันระหว่างบทบัญญัติในศาสนาทั้งหลายที่ถูกประทานลงมาจากฟากฟ้า ว่าปัจจัยทั้งห้าประการนี้ย่อมต้องได้รับการพิทักษ์ ซึ่งได้แก่ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา เกียรติ และทรัพย์สิน และถือว่าการละเมิดปัจจัยแห่งความจำเป็นทั้งห้าประการนี้เป็นการก่ออาชญกรรมและความผิด สมควรที่จะได้รับการลงโทษตามความเหมาะสม และด้วยการพิทักษ์รักษาปัจจัยทั้งห้านี้ ย่อมจะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมและก่อให้เกิดความอุ่นใจแก่ปัจเจกบุคคล
ประเภทของสิทธิ
1. สิทธิระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺ ประการที่สำคัญที่สุดในประเภทนี้คือการศรัทธาในเอกภาพของอัลลอฮฺ รองลงมาคือการทำละหมาด
2. สิทธิระหว่างมนุษย์กับผู้อื่น ประการที่สำคัญที่สุดในประเภทนี้คือการหลั่งเลือด
ดังนั้น เรื่องแรกที่บุคคลหนึ่งจะถูกคิดบัญชี ณ อัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ คือ การละหมาดของเขา และเรื่องแรกที่จะถูกสอบสวนในระหว่างมนุษย์ด้วยกันคือคดีการหลั่งเลือดระหว่างพวกเขา
บัญญัติว่าด้วยการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
การฆ่าชีวิตใดชีวิตหนึ่งโดยมิชอบธรรม ถือเป็นหนึ่งในการกระทำบาปที่ใหญ่หลวงรองลงมาจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ศาสนาอิสลามจะยังคงเป็นที่พักพิงและที่กำบังอย่างกว้างขวางสำหรับมุสลิมคนหนึ่งตราบใดที่เขามิได้ละเมิดผู้อื่นด้วยการหลั่งเลือดที่ต้องห้าม แท้จริง การฆ่าชีวิตคนเป็นบาปที่ใหญ่หลวงซึ่งต้องได้รับโทษทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ ตามที่ปรากฏหลักฐานดังต่อไปนี้
1. อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ว่า
(ﮓ ﮔ ﮕ ﮖ ﮗ ﮘ ﮙ ﮚ ﮛ ﮜ ﮝ ﮞ ﮟ ﮠ ﮡ ﮢ ﮣ) [النساء / 93 ]
ความว่า “และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยจงใจ การตอบแทนแก่เขาคือนรก ญะฮันนัม โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธและทรงสาปแช่งเขา และได้ทรงเตรียมไว้สำหรับเขาซึ่งการลงโทษอันใหญ่หลวง” (อัน-นิสาอ์ 93)
2. ท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«أَكْبَرُ الكَبَائِرِ: الإشْرَاكُ بِالله، وَقَتْلُ النَّفْسِ، وَعُقُوقُ الوَالِدَيْنِ، وَقَوْلُ الزُّورِ، أَوْ قَالَ: وَشَهَادَةُ الزُّورِ». متفق عليه
ความว่า “ในบรรดาบาปที่ใหญ่หลวงนั้นคือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ การฆ่าชีวิต การเป็นผู้อกตัญญูต่อบิดามารดา การพูดเท็จ หรือท่านกล่าวว่า การเป็นพยานเท็จ” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6871 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 88)
3. จากอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لا يَـحِلُّ دَمُ امْرِئٍ مُسْلِـمٍ، يَشْهَدُ أَنْ لا إلَـهَ إلا الله، وَأَنِّي رَسُولُ الله، إلا بِإحْدَى ثَلاثٍ: الثَّيِّبُ الزَّانِي، وَالنَّفْسُ بِالنَّفْسِ، وَالتَّارِكُ لِدِينِـه، المفَارِقُ لِلْـجَـمَاعَةِ». متفق عليه.
ความว่า “แท้จริงไม่เป็นการอนุมัติที่จะหลั่งเลือดเนื้อของมุสลิมผู้หนึ่งที่กล่าวคำปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและฉันนั้นเป็นศาสนืทูตของอัลลอฮฺ เว้นเสียแต่ว่าเขาได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสามเรื่องดังนี้ การซินา(การผิดประเวณี)ของผู้แต่งงานแล้ว หรือการฆ่าผู้อื่น หรือการละทิ้งศาสนาของเขาและแยกตัวเองออกจากญะมาอะฮฺ(ประชาชาติอิสลาม)” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6878 และมุสลิม 1676 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)
· แท้จริงเลือดเนื้อบรรดาของผู้ศรัทธานั้นมีความเท่าเทียมกัน พวกเขามีความเท่าเทียมกันในบทบัญญัติการลงโทษไม่ว่าจะดัวยการจ่ายดิยะฮฺ หรือการกิศอศ จะไม่มีใครดีกว่าหรือเหนือกว่าใครในหมู่ผู้ศรัทธา ทั้งในเรื่องเผ่าพันธุ์ เครือญาติ และแม้แต่ความแตกต่างระหว่างเพศก็ตาม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(ﭵ ﭶ ﭷ ﭸ ﭹ ﭺ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﮊ ﮋ) [الحجرات / 13 ]
ความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริง ผู้มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัล-หุญุรอต 13)