Full Description
ประเภทของเตาฮีด
أنواع التوحيد
< تايلانديไทย – Thai - >
มุฮัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน
محمد بن صالح العثيمين
ผู้แปล: แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ
ผู้ตรวจทาน: ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ترجمة: محمد صبري يعقوب
مراجعة: فيصل عبد الهادي
ประเภทของเตาฮีด
คำถามที่ 8 : ท่านชัยคฺที่เคารพ เตาฮีดมีกี่ประเภท ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกตัวอย่างมันด้วยครับ?
คำตอบ : ประเภทของเตาฮีดที่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ได้หมายรวมอยู่ในความหมายโดยทั่วไป คือ การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระองค์ นั่นคือมีสามประเภทด้วยกัน
เตาฮีดอัร-รุบูบียะฮฺ คือการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ในการสร้างสรรค์ การครอบครองกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการสรรพสิ่งต่างๆ
ซึ่ง (หนึ่ง) อัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ เพียงพระองค์เดียว ไม่มีผู้สร้างใดอื่นจากพระองค์ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
﴿ هَلۡ مِنۡ خَٰلِقٍ غَيۡرُ ٱللَّهِ يَرۡزُقُكُم مِّنَ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِۚ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ ٣ ﴾ [فاطر: ٣]
“จะมีพระผู้สร้างอื่นใดจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ที่จะประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากฟากฟ้าและแผ่นดิน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์” (สูเราะฮฺฟาฏิร อายะฮฺที่ 3)
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ชี้ชัดถึงบรรดาพระเจ้าของพวกปฏิเสธศรัทธาว่าเป็นโมฆะ ไว้ว่า
﴿ أَفَمَن يَخۡلُقُ كَمَن لَّا يَخۡلُقُۚ أَفَلَا تَذَكَّرُونَ ١٧ ﴾ [النحل: ١٧]
“ดังนั้น ผู้ทรงสร้างย่อมไม่เหมือนกับผู้ที่ถูกสร้าง พวกเจ้าไม่ใคร่ครวญดอกหรือ?” (สูเราะฮฺอัน-นะหฺล์ อายะฮฺที่ 17)
อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงเป็นผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ เพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วทรงกำหนดมันให้เป็นไปตามกฎสภาวะ และการสร้างสรรค์ของพระองค์ยังหมายรวมถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระทำของพระองค์เอง และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การศรัทธาต่อกฎสภาวะที่สมบูรณ์นั้นคือการที่ท่านศรัทธาว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเป็นผู้สร้างการกระทำของปวงบ่าว ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ وَٱللَّهُ خَلَقَكُمۡ وَمَا تَعۡمَلُونَ ٩٦ ﴾ [الصافات : ٩٦]
“ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺทรงสร้างพวกท่านและสิ่งที่พวกท่านประดิษฐ์มันขึ้นมา” (สูเราะฮฺอัศ-ศ็อฟฟาต อายะฮฺที่ 96)
ตามความเข้าใจนี้เอง จึงกล่าวได้ว่าการกระทำของบ่าวนั้นคือส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะของเขา ส่วนบ่าวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างของอัลลอฮฺ ในเมื่อพระองค์เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ก็เป็นผู้สร้างคุณลักษณะของมันด้วย
อีกความเข้าใจหนึ่งคือ การกระทำของบ่าวนั้นเกิดขึ้นด้วยความต้องการและความสามารถของบ่าวโดยสมบูรณ์ ส่วนความต้องการและความสามารถนั้นมันทั้งสองก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ พระองค์เป็นผู้สร้างสาเหตุที่สมบูรณ์ และพระองค์ก็เป็นผู้สร้างต้นเหตุนั้นด้วย ดังนั้นหากท่านถามว่า เราจะกล่าวอย่างไรว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างสรรค์ ทั้งๆ ที่มีบางสิ่งที่ถูกสร้างจากสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้บ่งชี้ในเรื่องนี้ในอายะฮฺที่ว่า
﴿ فَتَبَارَكَ ٱللَّهُ أَحۡسَنُ ٱلۡخَٰلِقِينَ ١٤ ﴾ [المؤمنون : ١٤]
“ดังนั้นอัลลอฮฺทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเลิศแห่งปวงผู้สร้าง” (สูเราะฮฺอัล-มุอ์มินูน อายะฮฺที่ 14)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในเรื่องการสร้างรูปภาพว่า
«يُقَالُ لَهُمْ أَحْيُوا مَا خَلَقْتُمْ»
ความว่า “จะถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า พวกเจ้าจงทำให้มันมีชีวิตในสิ่งที่ท่านได้สร้างมันมาสิ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรี หมายเลข 2105 และมุสลิม หมายเลข 2107)
คำตอบในเรื่องนี้คือ นอกเหนือจากอัลลอฮฺ ตะอาลา แล้ว จะไม่มีการสร้างสิ่งใดเหมือนการสร้างของอัลลอฮฺ ซึ่งเขาไม่สามารถที่จะทำให้มีสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่สามารถที่จะฟื้นชีวิตที่ได้ตายไปแล้ว แต่การสร้างของสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตอาลา เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลง และแปรรูปจากคุณลักษณะหนึ่งไปสู่คุณลักษณะหนึ่ง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ เช่นคนที่สร้างรูปภาพ เมื่อเขาได้ทำรูปภาพมารูปหนึ่งเขาไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด แต่เขาทำได้แค่เปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่งเท่านั้น เช่นการเปลี่ยนจากดินไปสู่รูปนก หรือเปลี่ยนเป็นรูปของอูฐ และเฉกเช่นการระบายแผ่นกระดานสีขาวเป็นรูปภาพที่มีสีสัน ซึ่งวัตถุทั้งหมดคือสิ่งที่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ทรงสร้าง และกระดาษสีขาวก็เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ทรงสร้างเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความแตกต่างกันระหว่างการยืนยันในเรื่องการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ และการยืนยันในเรื่องการสร้างสรรค์ของสิ่งที่ถูกสร้าง และด้วยประการนี้เองจึงทำให้อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างสรรค์ในส่วนที่เป็นการเฉพาะของพระองค์
สอง ส่วนหนึ่งจากเตาฮีดอัร-รุบูบียะฮฺ คือ การให้ความเป็นหนึ่งเดียวแด่อัลลอฮฺ ตะอาลา ในการครอบครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงครอบครองกรรมสิทธิ์เพียงพระองค์เดียว ดังที่พระองค์ ตะอาลา ได้ดำรัสไว้ว่า
﴿ تَبَٰرَكَ ٱلَّذِي بِيَدِهِ ٱلۡمُلۡكُ وَهُوَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٌ ١ ﴾ [الملك: ١]
“ความเจริญสุขจงมีแด่พระผู้ซึ่งอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (สูเราะฮฺอัล-มุลก์ อายะฮฺที่ 1)
และพระองค์ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า
﴿ قُلۡ مَنۢ بِيَدِهِۦ مَلَكُوتُ كُلِّ شَيۡءٖ وَهُوَ يُجِيرُ وَلَا يُجَارُ عَلَيۡهِ ٨٨ ﴾ [المؤمنون : ٨٨]
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด อำนาจอันกว้างใหญ่ไพศาลทุกสิ่งอย่างนี้อยู่ในพระหัตถ์ของผู้ใด ? และพระองค์เป็นผู้ทรงปกป้องคุ้มครอง และจะไม่มีใครปกป้องคุ้มครองพระองค์” (สูเราะฮฺอัล-มุอ์มินูน อายะฮฺที่ 88)
ดังนั้นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่สมบูรณ์และครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคืออัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา เพียงพระองค์เดียว ส่วนการอ้างกรรมสิทธิ์ถึงสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ นั้นเป็นการอ้างถึงส่วนเสริมเท่านั้น ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ยืนยันว่ามีการครอบครองกรรมสิทธิ์อื่นจากพระองค์อยู่ ดังที่พระองค์ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ أَوۡ مَا مَلَكۡتُم مَّفَاتِحَهُۥٓ ٦١ ﴾ [النور : ٦١]
“หรือบ้านที่พวกเจ้าครอบครองกุญแจของมัน” (สูเราะฮฺอัน-นูร อายะฮฺที่ 61)
และพระองค์ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ إِلَّا عَلَىٰٓ أَزۡوَٰجِهِمۡ أَوۡ مَا مَلَكَتۡ أَيۡمَٰنُهُمۡ ٦ ﴾ [المؤمنون : ٦]
“เว้นแต่แก่บรรดาภรรยาของพวกเขา หรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง (คือทาสี)” (สูเราะฮฺอัล-มุอ์มินูน อายะฮฺที่ 6)
และหลักฐานที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ได้บ่งชี้ถึงสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็ครอบครองกรรมสิทธิ์ด้วย แต่การครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่นี้ไม่เหมือนกับการครองครอบกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ซึ่งการครอบครองกรรมสิทธ์ของสิ่งอื่นนั้นมีข้อจำกัดและมีลักษณะที่เฉพาะ การครอบครองกรรมสิทธิ์ที่มีข้อจำกัดนั้นจะไม่ครอบคลุม เช่นบ้านของท่านซัยดฺนั้นท่านอัมรฺจะไม่สามารถเข้ามาครอบครองได้ ส่วนบ้านของท่านอุมัรนั้นท่านซัยดฺก็ไม่สามารถเข้ามาครอบครองได้ นอกจากนี้การครอบครองกรรมสิทธิ์นั้นมีลักษณะที่เฉพาะ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถใช้สอยสิ่งที่ได้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์นอกจากเป็นไปตามที่อัลลอฮฺได้อนุมัติให้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงห้ามจากการใช้จ่ายทรัพย์สินโดยสุรุ่ยสุร่าย (ดูในอัล-บุคอรี หมายเลข 1477 และมุสลิม หมายเลข 1715) และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ وَلَا تُؤۡتُواْ ٱلسُّفَهَآءَ أَمۡوَٰلَكُمُ ٱلَّتِي جَعَلَ ٱللَّهُ لَكُمۡ قِيَٰمٗا ٥ ﴾ [النساء : ٥]
“และจงอย่าให้แก่บรรดาผู้ที่โง่เขลาซึ่งทรัพย์ของพวกเจ้า ที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เป็นสิ่งค้ำจุนแก่พวกเจ้า” (สูเราะฮฺอัน-นิสาอ์ อายะฮฺที่ 5)
และนี่คือหลักฐานการครอบครองกรรมสิทธิ์ของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัดและมีลักษณะที่เฉพาะ ต่างจากการครอบครองกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ซึ่งเป็นการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ครอบคลุมทั้งหมด เป็นการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด โดยที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์จะไม่ถูกสอบสวนในสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ แต่พวกเขาต่างหากที่จะถูกสอบสวน
รุกุ่นที่สามของเตาฮีดอัร-รุบูบียะฮฺ คือ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเป็นหนึ่งเดียวในการบริหารจัดการ ซึ่งพระองค์ สุบหานะฮู วะตะอาลา เป็นผู้บริหารจัดการสรรพสิ่งต่างๆ พระองค์ทรงบริหารจัดการกิจการต่างๆ ของชั้นฟ้าและแผ่นดินทั้งหลาย ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ أَلَا لَهُ ٱلۡخَلۡقُ وَٱلۡأَمۡرُۗ تَبَارَكَ ٱللَّهُ رَبُّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٥٤ ﴾ [الأعراف: ٥٤]
“พึงรู้เถิดว่า การสร้างและกิจการทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของพระองค์เท่านั้น มหาบริสุทธิ์อัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก” (สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 54)
และการบริหารจัดการนี้เป็นการบริหารจัดการที่ครอบคลุม ไม่มีสิ่งใดมาทำให้พระองค์เพลี้ยงพล้ำได้ และไม่มีสิ่งใดคัดค้านพระองค์ได้ ส่วนการบริหารจัดการของสิ่งที่ถูกสร้างบางอย่างนั้น เช่น การบริหารจัดการของมนุษย์ในเรื่องทรัพย์สิน เด็กรับใช้ คนรับใช้ เป็นต้น เป็นการบริหารจัดการที่เล็กๆ น้อยๆ และมีข้อจำกัด ซึ่งการบริหารจัดการแบบมีข้อจำกัดต่างจากการบริหารจัดการที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ดังนั้นจากข้อมูลนี้เองที่ทำให้คำกล่าวของเรามีความถูกต้อง นั่นคือ เตาฮีดอัร-รุบูบียะฮฺ คือการให้ความเป็นหนึ่งเดียวแด่อัลลอฮฺ ตะอาลา ในการสร้างสรรค์ การครอบครองกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการสรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งนี่คือเตาฮีด อัร-รุบูบียะฮฺ
สำหรับประเภทที่สองคือ เตาฮีด อัล-อุลูฮียะฮฺ คือการให้ความเป็นหนึ่งเดียวแด่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ในการทำอิบาดะฮฺ ด้วยการที่มนุษย์จะไม่ยึดสิ่งใดอื่นจากอัลลอฮฺมาทำอิบาดะฮฺและแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ เฉกเช่นที่เขาทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา และแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ซึ่งนี่คือประเภทเตาฮีดที่พวกมุชริกีน (พวกที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) มักจะหลงผิดกัน และเป็นกลุ่มคนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ต่อสู้กับพวกเขา และอนุมัติให้ต่อสู้กับบรรดาผู้หญิงของพวกเขา ลูกหลานของพวกเขา ทรัพย์สินของพวกเขา แผ่นดินของพวกเขา และบ้านเมืองของพวกเขา และพวกเขาคือสาเหตุที่ต้องมีการแต่งตั้งบรรดาเราะสูลขึ้นมาและประทานคัมภีร์ต่างๆ ลงมา พร้อมด้วยสองเตาฮีดที่ควบคู่กันมานั่นคือ เตาฮีด อัร-รุบูบียะฮฺ และเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต แต่สิ่งที่บรรดาเราะสูลต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงแก้ไขกลุ่มชนของพวกท่านคือเตาฮีดประเภทนี้ นั่นคือเตาฮีด อัล-อุลูฮียะฮฺ ด้วยการที่มนุษย์จะไม่ทำอิบาดะฮฺต่อสิ่งใดอื่นจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ไม่ว่าจะเป็นบรรดามลาอิกะฮฺผู้ใกล้ชิด และนบีที่ถูกส่งลงมา รวมถึงบรรดาคนดีทั้งหลาย หรือต่อใครก็ตามที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง เพราะการทำอิบาดะฮฺนั้นจะใช้ไม่ได้นอกจากต้องเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ และใครก็ตามที่บกพร่องในเตาฮีดนี้ เขาก็เป็นคนที่ตั้งภาคี (มุชริก) และเป็นคนที่ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิรฺ) ต่ออัลลอฮฺ แม้ว่าเขาจะยืนยันในเตาฮีด อัร-รุบูบียะฮฺ และเตาฮีดอัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต ก็ตาม ซึ่งหากมีใครคนหนึ่งศรัทธาว่าอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา เป็นผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงครอบครองกรรมสิทธิ์ต่างๆ และเป็นผู้ทรงบริหารจัดการในกิจการทั้งหมด และพระองค์ สุบหานะฮู วะตะอาลา คู่ควรกับบรรดาพระนามและคุณลักษณะต่างๆ (อัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต) แต่เขากลับทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺพร้อมกับสิ่งอื่นๆ การยืนยันในเตาฮีด อัร-รุบูบียะฮฺ และเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต ก็จะไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ ต่อเขา และหากสมมุติว่าคนๆ หนึ่งได้ยืนยันอย่างสมบูรณ์ต่อเตาฮีด อัร-รุบูบียะฮฺ และเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต แต่เขาได้ไปยังหลุมฝังศพแล้วทำอิบาดะฮฺต่อเจ้าของหลุมฝังศพนั้น หรือได้บนบาน (นะซัร) ต่อมันด้วยการพลีสัตว์เพื่อแสวงหาความใกล้กับมัน ก็ถือว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่ตั้งภาคี (มุชริก) และเป็นคนปฏิเสธศรัทธา (กาฟิรฺ) ต่ออัลลอฮฺ และเขาจะต้องอยู่ในนรกตลอดกาล อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
﴿ إِنَّهُۥ مَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدۡ حَرَّمَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِ ٱلۡجَنَّةَ وَمَأۡوَىٰهُ ٱلنَّارُۖ وَمَا لِلظَّٰلِمِينَ مِنۡ أَنصَارٖ ٧٢ ﴾ [المائدة: ٧٢]
“แท้จริงผู้ใดให้มีภาคีแก่อัลลอฮฺ แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา และที่พำนักของเขานั้นคือนรก และสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นย่อมไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆ” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 72)
และเป็นที่รู้ดีว่าใครก็ตามที่อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ (อัลกุรอาน) ก็จะพบว่าชาวมุชริกีนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ต่อสู้กับพวกเขา และอนุมัติเลือดเนื้อและทรัพย์สินของพวกเขา และจับกุมลูกหลานของพวกเขาและบรรดาผู้หญิงของพวกเขา รวมถึงยึดแผ่นดินของพวกเขานั้น พวกเขาต่างก็ยืนยันว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นพระผู้อภิบาลที่ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ เพียงพระองค์เดียว แต่เมื่อพวกเขาได้ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺร่วมกับภาคีอื่นๆ พวกเขาก็กลายเป็นชาวมุชริกีนที่อนุมัตให้หลั่งเลือดเนื้อและยึดทรัพย์สินได้
ส่วนประเภทที่สามของเตาฮีดนั้นคือ เตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะอัศ-ศิฟาต คือ การให้ความเป็นหนึ่งเดียวแด่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ตามที่พระองค์ได้เรียกพระนามด้วยพระองค์เอง และตามที่พระองค์ได้สาธยายด้วยพระองค์เองในคัมภีร์ของพระองค์ หรือด้วยกับลิ้น (คำอธิบาย) ของท่านเราะสูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งนี้ด้วยการยืนยันตามที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ได้ยืนยันด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีการบิดเบือน ไม่มีการปฏิเสธ ไม่มีการจินตนาการหรืออธิบายรูปแบบ และไม่มีการเทียบเสมอเหมือน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องศรัทธาตามที่อัลลอฮฺทรงเรียกพระนามด้วยพระองค์เอง และตามที่ได้พระองค์ได้สาธยายด้วยพระองค์เอง ในรูปแบบที่เป็นไปตามนั้นจริงไม่ใช่เป็นการเปรียบเปรย แต่ต้องไม่มีการอธิบายรูปแบบและเทียบเสมอเหมือน
ซึ่งเตาฮีดประเภทนี้เองที่กลุ่มต่างๆ ของประชาชาตินี้จากชาวกิบลัต (มุสลิม) มักจะหลงผิดกัน ซึ่งพวกเขาทั้งหมดต่างก็อ้างถึงความเป็นอิสลาม บางกลุ่มก็มีความสุดโต่งในการปฏิเสธและให้ความบริสุทธิ์ต่อพระนามและคุณลักษณะนั้นจนเกินขอบเขตกระทั่งได้หลุดออกจากอิสลาม ส่วนบางกลุ่มก็อยู่ในแนวทางสายกลาง และบางกลุ่มนั้นก็ใกล้เคียงกับชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ แต่แนวทางของสะลัฟในเตาฮีดประเภทนี้นั้น คือการเรียกพระนามของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ และสาธยายคุณลักษณะตามที่พระองค์ทรงเรียกพระนามและสาธยายถึงคุณลักษณะนั้นด้วยพระองค์เองในรูปแบบที่เป็นไปตามนั้นจริง โดยไม่มีการบิดเบือน ไม่มีการปฏิเสธ ไม่มีการอธิบายรูปแบบ และไม่มีการเทียบเสมอเหมือน
ตัวอย่างในเรื่องนี้คือ อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ได้เรียกพระองค์เองว่า “الحي القيوم” (ผู้ทรงชีวิน ผู้ทรงดำรงอยู่) ดังนั้นวาญิบที่เราต้องศรัทธาว่า “الحي -ผู้ทรงชีวิน” เป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺ และวาญิบที่เราต้องศรัทธาตามองค์ประกอบของคุณลักษณะของชื่อนี้ นั้นคือ การมีชีวิตที่สมบูรณ์โดยไม่มาจากสิ่งที่ไม่มีมาก่อน และเป็นชีวิตที่ไม่มีวันสูญสิ้นสลาย และอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ได้เรียกพระนามของพระองค์เองว่า “السميع العليم” (ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้) ดังนั้นวาญิบที่เราต้องศรัทธาว่า “السميع -ผู้ทรงได้ยิน” เป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺ และศรัทธาว่าการได้ยินคือหนึ่งในคุณลักษณะของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ดังกล่าวคือผลจากชื่อและคุณลักษณะการได้ยิน ส่วนการกล่าวว่า พระองค์คือผู้ทรงได้ยินแต่ไม่มีคุณลักษณะการได้ยิน หรือมีคุณลักษณะการได้ยินโดยไม่ได้สัมผัสหรือรับรู้เสียงที่ได้ยิน (ตามความเชื่อของบางกลุ่มที่หลงผิด – ผู้แปล) ดังกล่าวคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และคุณลักษณะอื่น ๆ นอกจากนี้ก็เช่นเดียวกัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ وَقَالَتِ ٱلۡيَهُودُ يَدُ ٱللَّهِ مَغۡلُولَةٌۚ غُلَّتۡ أَيۡدِيهِمۡ وَلُعِنُواْ بِمَا قَالُواْۘ بَلۡ يَدَاهُ مَبۡسُوطَتَانِ يُنفِقُ كَيۡفَ يَشَآءُۚ ٦٤ ﴾ [المائدة: ٦٤]
“และชาวยิวนั้นได้กล่าวว่า พระหัตถ์ของอัลลอฮฺนั้นถูกล่ามตรวน มือของพวกเขาต่างหากที่ถูกล่ามตรวนและพวกเขาได้รับละอฺนัต (การสาปแช่ง) เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาพูด หามิได้พระหัตถ์ทั้งสองของพระองค์ถูกแบออกต่างหาก” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 64)
ในที่นี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ بَلۡ يَدَاهُ مَبۡسُوطَتَانِ ٦٤ ﴾ [المائدة: ٦٤]
“หามิได้พระหัตถ์ทั้งสองของพระองค์ถูกแบออกต่างหาก” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 64)
ซึ่งพระองค์ได้ยืนยันว่าพระองค์ทรงมีสองพระหัตถ์ที่แบออกมา กล่าวคือพระองค์ทรงมีการมอบให้อย่างล้นเหลือ ดังนั้น วาญิบที่เราต้องไม่พยายามอธิบายรูปแบบของพระหัตถ์ทั้งสองนั้นไม่ว่าจะด้วยหัวใจของเรา จินตนาการของเรา และคำพูดของเรา และจะต้องไม่เทียบเสมอเหมือนมือของสิ่งที่ถูกสร้าง เพราะอัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]
“ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (สูเราะฮฺอัช-ชูรอ อายะฮฺที่ 11)
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า
﴿ قُلۡ إِنَّمَا حَرَّمَ رَبِّيَ ٱلۡفَوَٰحِشَ مَا ظَهَرَ مِنۡهَا وَمَا بَطَنَ وَٱلۡإِثۡمَ وَٱلۡبَغۡيَ بِغَيۡرِ ٱلۡحَقِّ وَأَن تُشۡرِكُواْ بِٱللَّهِ مَا لَمۡ يُنَزِّلۡ بِهِۦ سُلۡطَٰنٗا وَأَن تَقُولُواْ عَلَى ٱللَّهِ مَا لَا تَعۡلَمُونَ ٣٣ ﴾ [الأعراف: ٣٣]
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามนั้น คือบรรดาสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจ ทั้งเป็นสิ่งที่เปิดเผยจากมันและสิ่งที่ไม่เปิดเผย และสิ่งที่เป็นบาป และการข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม และการที่พวกเจ้าให้เป็นภาคแก่อัลลอฮฺซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆ ลงมาแก่สิ่งนั้น และการที่พวกเจ้ากล่าวให้ภัยแก่อัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้” (สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 33)
และอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ได้ดำรัสอีกว่า
﴿ وَلَا تَقۡفُ مَا لَيۡسَ لَكَ بِهِۦ عِلۡمٌۚ إِنَّ ٱلسَّمۡعَ وَٱلۡبَصَرَ وَٱلۡفُؤَادَ كُلُّ أُوْلَٰٓئِكَ كَانَ عَنۡهُ مَسُۡٔولٗا ٣٦ ﴾ [الإسراء: ٣٦]
“และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน” (สูเราะฮฺอัล-อิสรออ์ อายะฮฺที่ 36)
ดังนั้นใครก็ตามที่เทียบเสมอเหมือนพระหัตถ์ทั้งสองนั้นกับมือของสิ่งที่ถูกสร้าง แน่นอนเขาได้กล่าวหาคำดำรัสของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ นี้แล้ว
﴿ لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]
“ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (สูเราะฮฺอัช-ชูรอ อายะฮฺที่ 11)
และเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ตะอาลา ในคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า
﴿ فَلَا تَضۡرِبُواْ لِلَّهِ ٱلۡأَمۡثَالَۚ ٧٤ ﴾ [النحل: ٧٤]
“ดังนั้น พวกเจ้าอย่ายกอุทาหรณ์ทั้งหลายกับอัลลอฮฺเลย” (สูเราะฮฺอัน-นะหฺล์ อายะฮฺที่ 74)
และใครก็ตามที่อธิบายรูปแบบของพระหัตถ์ทั้งสองนั้นด้วยรูปแบบที่เฉพาะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม แน่นอนเขาได้กล่าวถึงเรื่องราวของอัลลอฮฺในสิ่งที่เขาไม่รู้ และได้ยึดตามสิ่งที่เขาไม่มีความรู้