Full Description
เราะห์มะฮ์ บินติ อับดุลลอฮ์ : ชีวิตใหม่ที่มีพระเจ้านำทาง
﴿المسلمة الجديدة : رحمة بنت عبدالله﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
เว็บอิสลามมอร์
ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์
ที่มา : www.islammore.com
2010 - 1431
﴿المسلمة الجديدة : رحمة بنت عبدالله﴾
« باللغة التايلاندية »
موقع إسلام مور
مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام
المصدر: www.islammore.com
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เราะห์มะฮ์ บินติ อับดุลลอฮ์ : ชีวิตใหม่ที่มีพระเจ้านำทาง
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ ธารทิพย์ เถื่อนขุมทอง เป็นบุตรสาวคนเดียวจากครอบครัวชนชั้นกลาง เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของแม่เพียงลำพัง จึงทำให้เป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง แต่ต้องช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะไม่ได้เรียนจบมาในคะแนนที่สูงมากนัก แต่เมื่อทำงานจะเป็นคนที่เรียนรู้ไว ประกอบกับได้รับโอกาสจากเจ้านาย โดยเริ่มต้นเป็นเลขากรรมการบริษัท ภายใน 10 เดือนหลังจากนั้น ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์และการตลาด
เหมือนชีวิตดำเนินไปตามที่คาดฝันไว้ คือ เป็นผู้จัดการตอนอายุ 23 ปี และ ซื้อรถยนต์ด้วยเงินของตนเองตั้งแต่ อายุ 25 ปี พร้อมกับเป็นเจ้าของกิจการเองในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ทำให้ต้องหยุดกิจการไป และกลับไปทำงานประจำอีกครั้ง และบ่อยครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ด้วยหน้าที่การงาน จึงได้รู้จักสังคมภายนอกและโลกทัศน์ที่กว้างไกล
Islammore : มุมมองเกี่ยวกับมุสลิมก่อนที่จะรู้จักศาสนาอิสลาม ?
Rahmah : ก่อนที่จะเข้าอิสลาม.... กลัวคนคลุมผม(ใส่ฮิญาบ) สมัยเรียนมัธยมไม่กล้ามาหน้ารามเลย รู้สึกว่าเค้าแปลกๆ พูดจาคนละภาษา และคนมุสลิมดูจะเคร่งครัดจนน่ากลัว รู้แค่ว่า ไม่กินหมู ไม่กินเหล้า ถึงแม้จะมีเพื่อนเป็นมุสลิม ก็ไม่ได้รู้อะไรที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนาเลย รู้เพียงวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขา ... แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย คลุมถุงชน ห้ามคบกันเป็นแฟน ซึ่งก็ยอมรับว่า รู้จักชีวิตคนมุสลิมมากที่สุดคือจากหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนเรื่องปุลากง แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลงใหลมากคือภาษาอาหรับ ที่เขียนเป็นถ้อยคำจากอัลกุรอ่าน จากเพื่อนชาวมุสลิมที่มาเขียนบนกระดานหน้าห้องสมัยเรียนชั้น ป.1
Islammore : เหตุผลในการเปลี่ยนศาสนา และระยะเวลาในการเปลี่ยนศาสนา ?
Rahmah : จากที่รู้จักอิสลามเพียงน้อยนิด แต่ชีวิตกลับวนเวียนอยู่กับอิสลามและมุสลิมโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่มีบ้านใกล้สุเหร่าตั้งแต่เล็ก ได้ยินเสียงอาซานบ่อยๆ แต่ก็ไม่ทราบว่าคืออะไร มีชายชาวมุสลิมที่เข้ามาสนิทสนมมากมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้จักอิสลามมากขึ้นเลย จึงยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่าอิสลามคืออะไร ? จนได้ศึกษาและรู้จักอัลลอฮฺ(รู้จักด้วยการเรียนรู้แต่ไม่ใช่ด้วยใจ) แต่ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด คงมีหลายๆ คนที่เคยเกิดความรู้สึกเช่นนี้ คืออัลลอฮฺทรงฮิดายะฮ์(ชี้ทางนำ)โดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ
สิ่งหนึ่งที่พอจะอธิบายได้คือ นึกถึงเรื่องการไปหาหมอดูต่างๆ การที่คนคิดว่าไปสะเดาะเคราะห์อย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะดี ชะตาชีวิตเราจะต้องเป็นไปตามที่หมอดูบอก แต่ในเมื่ออัลลอฮฺทรงเป็นผู้สร้างแล้ว ทรงเป็นผู้กำหนดชีวิตเรา ดังนั้นชีวิตเราจะเป็นแบบไหนหรือต้องการให้เป็นแบบไหนก็ร้องขอต่ออัลลอฮฺสิ เวลานั้นเองที่ทำให้รู้สึกว่า เราศรัทธาในพระเจ้า และเข้าใจคำว่า ลาอิลลาฮะอิลลัลลอฮฺ (ไม่มีพระเจ้าอื่นในนอกจากอัลลอฮฺ)แล้วจริงๆ จึงได้เข้ารับอิสลามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549
Islammore : ปัญหาและอุปสรรคหลังจากเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ?
Rahmah : ตอนที่เข้ารับอิสลามทีแรกไม่ได้บอกครอบครัว คิดว่าเค้าคงเข้าใจและยอมรับได้เพราะเราเองก็โตแล้ว และอิสลามที่เรารู้จักคือสัจธรรมที่เที่ยงแท้จากอัลลอฮฺ ซึ่งมีแต่สิ่งที่ดีให้กับเรา จึงคิดว่าทางบ้านคงไม่มีปัญหาอะไร แต่กลับตรงกันข้าม เพราะเขารับไม่ได้ ไม่มีใครที่เข้าใจและยอมรับ และพยายามคาดคั้นว่า ดิฉันมีแฟนเป็นมุสลิมหรือป่าวจึงคิดจะเข้าอิสลาม (ที่จริงแล้วแฟนที่เป็นมุสลิมได้เลิกกันไปก่อนหน้านี้แล้ว) และได้เตรียมพร้อมคือ ย้ายออกจากบ้านมาอยู่ห้องเช่า ก่อนที่จะบอกว่าเข้ารับอิสลามแล้วโดยอ้างว่าใกล้ที่ทำงาน แต่ที่จริงคือใกล้มัสยิด เพื่อนฝูงที่เคยเฮไหนฮานั่นก็เริ่มห่างหายไปเหลือเพียงไม่กี่คนในปัจจุบัน เพราะเขาไม่เข้าใจว่าอิสลามมีดีอะไร หรือแม้แต่ พี่น้องมุสลิมเดิมๆ บางส่วนก็มองเราด้วยความดูถูกคิดว่า คนเข้ารับอิสลามจะไปรู้อะไร บ้างก็ว่าเข้ารับอิสลามทำเป็นเคร่งคลุมผม ปกปิดดี แค่ทำเอาหน้า แต่ที่จริงไม่อิคลาส(ไม่บริสุทธิ์ใจ) แถมยังตกงานด้วย งานใหม่ที่ได้ก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ได้เหมือนเก่าคือเงินเดือนหายไปครึ่งๆ เลยที เดียว แต่ด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน
Islammore : อะไรที่ทำให้คุณเชื่อมั่นและศรัทธาในศาสนาอิสลาม ?
Rahmah : หลายๆ สิ่งที่ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอ่าน ที่วิทยาศาสตร์ได้ค้นพบในปัจจุบัน แต่อิสลามบอกมาแล้วหลายพันปี แล้วท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะรู้ได้อย่างไรถ้าไม่ได้มาจากพระผู้สร้าง เมื่อเราเชื่อในพระเจ้าโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ เชื่อว่าอัลลอฮฺนั้นทรงมีอยู่จริง และทรงเป็นผู้ช่วยเหลืออย่างแท้จริง เมื่อตอนเข้ารับอิสลามแรกๆ ย้ายมาอยู่ห้องพัก มองไปรอบๆ รู้สึกว่า ชีวิตเราไม่มีอะไรเลย แต่กลับรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว แต่อัลลอฮฺทรงอยู่กับเราเสมอ ทุกครั้งที่มีความทุกข์และเดือนร้อนก็จะร้องขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และได้รับความเมตาจากพระองค์ตลอด นั่นเองที่ทำห้ความเชื่อมันในอิสลามมีมากขึ้นเรื่อยๆ
Islammore : คุณคิดว่าหลังจากการเปลี่ยนศาสนาแล้ว ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร ?
Rahmah : มีความสุข มีเป้าหมายในชีวิต ว่าสิ่งที่เราทำในการดำเนินชีวิตแต่ละวันเราทำเพื่อใครและหวังผลอะไรไม่เหมือนก่อนที่มีชีวิตกินเที่ยวไปวันๆ เพราะทุกสิ่งที่ทำเราทำตามที่อัลลอฮฺทรงสั่งและ ตามแบบอย่างท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่วนที่เหลือก็ตะวักกัล(มอบหมาย)ต่ออัลลอฮฺ พร้อมกับขอดุอาอ์(วิงวอนขอพรจากพระเจ้า)
Islammore : อยากฝากบอกอะไรถึงพี่น้องมุสลิม และสังคมมุสลิมของเรา ....
Rahmah : จงภูมิใจในความเป็นอิสลาม และเห็นอิสลามเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นหนทางที่เที่ยงแท้ อย่าอ่อนแอและโลเลไปตามกระแสสังคมซึ่งเป็นแผนการที่ยิววางแผนไว้ และรวมพลังกันลุกขึ้นสู้ อย่าให้มุสลิมได้ขึ้นชื่อว่ามีแต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ แล้วให้คนอื่นมาดูถูกเรา แต่เราต้องเข็มแข็งในหลักการอิสลามและยืนอยู่ให้ได้ในสังคม จงอยู่ด้วยความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่สิ่งต่างเหล่านี้จะไม่สามารเกิดขึ้นได้เลยถ้าเราไม่สร้างอิหม่าน(สร้างศรัทธา)จากตัวเราก่อน หันมาสำรวจตัวเองว่า ในหนึ่งวันเราละหมาดครบห้าเวลาหรือยัง เราถือศีลอดในเดือนรอมฎอนครบหรือเปล่า เราเลือกที่จะกินอาหารที่ฮาลาลหรือเปล่า
สำหรับพี่น้องมุสลิมและมุอัลลัฟทั้งหลาย อยากจะให้กำลังใจพวกท่านให้อดทนต่อการทดสอบจากอัลลอฮฺ และกลับมาทบทวนข้อบกพร่องของตัวเองก่อนว่า ในแต่ละวันมีอะไรบ้างที่เราทำลงไปและมีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เราสามารถยอมรับหรือคิดได้หรือไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดและไม่สมควรทำ เราได้สำนึกผิดและขอโทษต่ออัลลอฮฺในสิ่งนั้นแล้วหรือยัง นี่เป็นเพียงสิ่งง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้และทำให้อิหม่านเราเพิ่มขึ้นด้วย และขอให้เราพิจารณามันอย่างเป็นธรรมอย่าเอาความคิดตัวเองเป็นบรรทัดฐาน หรืออย่าเข้าข้างตนเองว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องแล้ว "คนที่อิหม่านติดลมบนแล้ว ไม่ว่าสิ่งใด(การทดสอบ)จะประสบแก่เขา พวกเขาก็จะไม่สะทกสะท้านกับมัน" ขอให้เราเป็นผู้ที่เป็นเช่นนั้น
อิหม่าน เป็นพื้นฐานและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เป็นตัวปรับเปรี่ยนทัศนคติของเรา เราอาจจะพอนึกออกว่าอิหม่านช่วยเราได้อย่างไรในบางเรื่องที่เห็นชัดเจนคือ เมื่อเราเจอกับการตำหนิหรือถูกว่ากล่าว ถ้าเรามีอิหม่านเราจะอดทนและนึกไปถึงสิ่งที่นบีมุฮัมมัดประสบ ท่านต้องใช้ความอดทนมากกว่าเราแค่ไหน แต่กับสิ่งที่เราประสบนั้นยังไม่ได้ถึงเสี้ยวของท่านเลย ถ้าเราไม่มีอิหม่านเราคงไม่นึกถึงเรื่องของท่านนบีมุฮัมมัด เราคงจะไม่อดทนและเราคงโต้ตอบอย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว
Islammore : ทำงาน(ดุนยา)ของผู้หญิงต่างศาสนิก กับ ผู้หญิงมุสลิมะฮ์ แตกต่างกันอย่างไร ?
Rahmah : สำหรับสตรี ทั้งสตรีต่างศาสนิกและมุสลิมะฮฺ มุสลิมะฮฺรู้ว่าหน้าที่ของตนนั้นคืออะไร ในขณะที่ หญิงต่างศาสนิก ดำเนินชีวิตตามความต้องการของตน สำหรับเขาเหล่านั้นไม่มีผลบุญใดเลยเป็นการตอบแทน ต่างจากมุสลิมมะฮฺเมื่อเรารู้จักหน้าที่ของเรา เรามีเป้าหมายที่จะทำให้บรรลุและทราบว่าสิ่งที่จะได้รับการตอบแทนนั้นช่าง หอมหวานขนาดไหน นั่นคืออิหม่านและผลบุญ
หน้าที่ของการเป็นหญิงสาว(เป็นลูก) ต้องรู้จักปกปิดเอาเราะฮฺของตนสำรวมกริยา หลีกเลี่ยงการเกิดฟิตนะฮฺ ไม่อยู่ปะปนกับหมู่ผู้ชาย หรือไม่มีมะหฺร็อม(ญาติสนิท) หรือไม่ได้อยู่เป็นญะมาอะฮฺ(อยู่เป็นกลุ่ม) คอยดูแลพ่อแม่ ในขณะที่วัยรุ่นต่างศาสนิก(บางส่วน)ติดเพื่อน เชื่อฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เที่ยวเตร่ไม่กลับบ้าน มีคู่รักวัยเรียน(ซินา)
หน้าที่ของภรรยา ดูแลบ้านและทรัพย์สินของสามี เชื่อฟังสามีถ้าสิ่งนั้นไม่ขัดต่อศาสนบัญญัติ รักษาเกียรติของสามี ดูแลตนเองให้สะอาดและมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มและหอมเสมอเมื่ออยู่กับสามี
หน้าที่ของแม่ ดูแลเลี้ยงดูลูกให้กินอิ่ม นอนหลับมีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในหนทางของอัลลอฮฺและเป็นอุมมะฮฺที่มีคุณภาพของท่านนบีมุฮัมมัดต่อไป
ส่วนหญิงต่างศาสนิก (ขอรวบสองหน้าที่เลยคือภรรยาและแม่) มักจะมีความมั่นใจในตนเองแบบผิดๆ คือ เรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย คิดว่าถ้าชายทำได้ หญิงก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้เช่นกัน ลองคิดดูว่า ถ้าคุณขึ้นรถโดยสามีชายนั่งอยู่แล้วเขาไม่ลุกให้คุณนั่งเพราะคุณต้องการ เท่าเทียมกับชายงั้นคุณก็ต้องยืนบ้างหล่ะกลับหาว่าเขาไม่เป็นสุภาพบุรุษ จนลืมไปว่าแท้ที่จริงสิ่งใดบ้างเป็นสิ่งที่ตนควรทำ เช่น ออกทำงานนอกบ้าน ต้องแต่งตัวสวยงาม เพื่อให้ดูมีบุคลิกภาพที่ดีเวลาทำงานเมื่อเหนื่อยกลับบ้านก็ไม่มีแรงที่จะดูแลบ้านและตนเอง ความเครียดจากงานทำให้ไม่มีใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มให้สามี สิ่งที่ตามมาคือ ความเบื่อหน่ายของคู่ชีวิต เมื่อทำงานหนัก ต้องเดินทางปะปนกับผู้อื่น กว่าจะถึงบ้านก็ดึกค่ำ ไม่แม้แต่กระทั่งจะมีโอกาสได้พูดคุยหรือดูแลลูกด้วยตนเอง แต่เป็นหน้าที่พี่เลี้ยงที่ดู อย่างเช่น บางบ้านจะดูนิสัยเด็กดูที่พ่อแม่ไม่ได้ เพราะนิสัยไปเหมือนพี่เลี้ยง เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยได้อยู่กับลูก แต่กลับเป็นพี่เลี้ยงที่อบรมสั่งสอน
โดยส่วนตัวแล้ว เคยเป็นสาวออฟฟิซทำงาน (ก่อนเข้ารับอิสลาม) และมุสลิมะฮฺที่ทำงานพร้อมกับเป็นแม่บ้านในตัวจึงสามารถบอกได้ถึงวิถีชีวิต ที่แตกต่าง จริงอยู่ว่าถึงแม้เราต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ มุสลิมะฮฺหลายคนมักจะยกเรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการทำงานปะปน หรือบางครั้งก็หลุดไปตามกระแส เมื่อตอนเข้ารับอิสลามดิฉันเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ต้องหางานทำเช่นกัน แต่ก็ยังมั่นคงในหลักการที่เราต้องปกปิดเอาเราะฮฺให้มิดชิดและต้องละหมาดให้ได้ครบห้าเวลา
เมื่อสัมภาษณ์งานหลายๆ ที่ก็ต้องพบกับความเจ็บปวดไม่ได้เจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธเพราะต้องปฏิบัติศาสนกิจแต่อย่างใด แต่เจ็บปวดเพราะในองค์กรนั้นมีมุสลิมะฮฺทำงานอยู่เดิม แต่ไม่คลุมผมและไม่ละหมาด จึงทำให้นายจ้างขอร้องดิฉันไม่ให้คลุมผมและปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกับ พนักงานท่านนั้น นี่คือหนึ่งความอ่อนแอในอิหม่านของพี่น้องเราที่ปล่อยตัวเองไปกับดุนยา แต่ที่เจ็บปวดมากกว่านั่นคือ บริษัทที่เป็นของมุสลิมแท้ๆ ทีแรกดิฉันรู้สึกใจชื้นเมื่อผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวสลามแก่ดิฉัน แต่ที่นั่นไม่มีห้องละหมาดทั้งพนักงานมุสลิมะฮฺก็ไม่คลุมผม นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดและฝังใจดิฉันมาเสมอ ดิฉันไม่ได้คิดว่าเราต้องอยู่ด้วยความแบ่งแยก หากที่เราอยู่แต่ในกลุ่มคนที่เหมือนๆ กันนั้นให้ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตก็จริง แต่เราไม่ได้มีโอกาสต่อสู้และทราบถึงอิหม่านที่แท้จริงของตนเลย ดิฉันกลับยกย่องผู้ที่ทำงานหรือมีสังคมร่วมกับคนต่างศาสนิก และยังสามารถยืนหยัดในอิสลามได้มากกว่า
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ(ขอบคุณพระเจ้า) นี่คงเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ที่ตัวดิฉันเองได้ทำงานที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางออกไปปะปน และได้ปฏิบัติศาสนกิจครบถ้วน ได้ทำหน้าที่แม่บ้านได้อย่างเต็มที่ นี่คือสิ่งที่เหมาะสมแล้วสำหรับมุสลิมมะฮฺ จงอย่าได้กลัวว่าการทำงานที่อยู่ในกรอบของศาสนา จะทำให้เรามีรายได้น้อย อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างมาจากอัลลอฮฺ ถึงแม้เงินที่เราได้จะน้อยลงแต่มันเป็นเงินที่มีบารอกะฮฺ(ความประเสริฐ) ตัวดิฉันเองมีรายได้น้อยลงจากสมัยที่ยังไม่ได้เข้าอิสลาม ครึ่งหนึ่ง แต่ทำไมกลับมีพอกินพอใช้ ในขณะที่เมื่อก่อนเดือนชนเดือนแทบไม่พอ เพราะฉะนั้นจงอย่าได้กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณให้อยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ
Islammore : ทำไมจึงเลือกที่จะเป็นภรรยาของสามีที่มีภรรยา 4 คน ?
Rahmah : ปัจจุบัน แต่งงานแล้วเป็นภรรยาคนที่สามจากสี่คนและมีบุตรชายอายุสองเดือนหนึ่งคน ดิฉันได้เข้ามาเป็นภรรยาคนที่สามของสามีซึ่งก็ยอมรับว่าชอบผู้ชายคนนี้ เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าถึงสิบสองปี เค้าไม่กลัวที่จะบอกว่าเขามีภรรยาอยู่แล้วสองคน ซึ่งบางคนจะปกปิดเพราะกลัวว่าฝ่ายหญิงจะไม่ยอมแต่งงานด้วย ดิฉันยอมรับในความเปิดเผยของเขาและเจตนาของเขาที่ต้องการสร้างครอบครัวร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนก็ต้องการความชัดเจนในข้อนี้จากฝ่ายชาย
"ก็อิสลามมีภรรยาได้สี่คนนี่นา" นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ดิฉันตัดสินใจแต่งงานกับชายคนนี้ แต่เพราะความเปิดเผยและชัดเจนของเขา และในความคิดเห็นส่วนตัวดิฉัน คือ ถ้าเราเป็รคนแรก เกิดเขามีคนที่สองขึ้นมา เขาจะยังเหมือนเดิมกับเรามั้ย ถ้าเราเป็นคนที่สอง เขาจะมาลุ่มหลงเราจนไม่ดูแลคนแรกหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นดิฉันก็ไม่ต้องการเช่นกัน แต่เมื่อเขามีแล้วถึงสอง และยังดูแลรับผิดชอบทั้งสองเป็นอย่างดีตามความสามารถ ทำให้ดิฉันยินดีที่จะเป็นคนที่สามและมั่นใจว่าเค้าจะให้ความยุติธรรมได้เช่นกัน ในขณะนั้นเองก็มีคนเข้ามาขอแต่งงานด้วยเช่นกัน ดิฉันไม่ได้ละหมาดอิสติคอเราะฮฺ แต่ดุอาอ์ว่าดิฉันยอมที่จะแต่งกับใครก็ให้ได้หากนั่นเป็นพระประสงค์ของ พระองค์ ขอแต่ให้เขาสามารถเป็นผู้นำทางศาสนาให้เราได้ แต่สุดท้ายพระองค์ได้ทรงให้เราเป็นคนที่สามจนได้
Islammore : ทำไมจึงเข้ามาสอนและเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้กับคนอื่นๆ ?
Rahmah : เมื่อแต่งงานแล้ว ยังไม่มีลูก จึงทำให้เวลาของดิฉันส่วนใหญ่อยู่กับการเสาะแสวงหาความรู้ศาสนามากขึ้น จนได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการเป็นครูพี่เลี้ยงที่โครงการผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน ยิ่งทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น เรานึกถึงเมื่อครั้งที่เราเป็นผู้สนใจอิสลามและต้องการแสวงหาความรู้ และการเผยแผ่อิสลามก็เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ดิฉันจึงดีใจที่ตัวเองได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ที่ให้กับผู้ที่สนใจและเพราะดิฉันเคยเป็นคนต่างศาสนิกมาก่อนจึงทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกและปัญหาที่ต้องเผชิญและเป็นที่ปรึกษาให้พวกเขาเหล่านั้นได้
การเป็นครูสอนศาสนาไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาด้วย เป็นเวลาสามปีแล้วที่ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ และหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงเมตตา ให้ดิฉันยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไป นี่ก็เป็นอีกหนทางนึงที่ทำให้อิหม่านของดิฉันนั้นเพิ่มมากขึ้น จนมาถึงการทดสอบที่หนักหน่วงครั้งใหม่
เรามักจะพูดว่า ให้ตะวักกัล(มอบหมาย)ต่ออัลลอฮฺ แต่ถามว่าในใจเราลึกๆ แล้วเรายอมรับแค่ไหนจากที่ต้องการมีลูกเพื่ออยากจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ทุกครั้งที่พบกับภรรยาคนอื่นและลูกๆ ของสามี ทำให้ดิฉันรู้สึกว้าเหว่และขาดความอบอุ่น อยากมีลูกกับเขาบ้างจึงได้พร่ำแต่ดุอาอ์ เมื่อเวลาผ่านไปเรียนศาสนาเยอะขึ้น อิหม่านเพิ่มขึ้น ความคิดที่อยากจะมีลูกเริ่มเปลี่ยนเป็น อยากได้ลูกชายไว้เป็นมะห์ร็อม เพราะสามีมีภรรยาหลายคนคงไม่สามารถมาเป็นมะห์ร็อมให้เราได้ตลอดเวลา ถ้าเรามีลูกชายของเราเองก็คงไม่ต้องเป็นภาระของเขา
จนกระทั่งอยากมีลูกเพียงแค่ต้องการเพิ่มประชาชาติของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และในใจก็คิดว่า เราดะอฺวะฮฺคนอื่นมาก็เยอะ เขาเข้ามาแล้วก็จากไป แต่ถ้าเรามีลูกเราจะได้ดะอฺวะฮฺเขาไปได้ตลอดชีวิต แทบทุกเดือนเมื่อมีอาการเวียนศรีษะคลื่นใส้จะอาเจียนแถมประจำเดือนก็มาไม่ปกติ ทำให้คิดว่าท้องแน่ๆ เลย แทบทุกเดือนแล้วก็ต้องผิดหวังเพราะสุดท้ายประจำเดือนก็มา พยายามปรึกษาเรื่องมีบุตรยาก แต่ก็ไม่สำเร็จจึงได้ปล่อยวาง คราวนี้แหล่ะที่ดิฉันตะวักกัลจริงๆ คือ ยังไม่สิ้นหวังที่จะดุอาอ์แต่ปล่อยให้เป็นไปตามพระประสงค์คือมั่นใจว่า อัลลอฮฺทรงรับดุอาอฺเราแน่ๆ หล่ะ แต่จะให้เมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้พระองค์ทรงรู้ดีกว่าเราว่าเมื่อไหร่ควรมีลูกได้
หลังจากที่ได้แต่งงานมาสามปีอัลลอฮฺทรงให้ริสกีกับเราอย่างคาดไม่ถึง จึงได้คุยกับสามีว่าตอนนี้เรามีความพร้อมหลายๆ อย่างทั้งริสกีและตัวสามีเอง ก็มีความรู้ศาสนาพอที่จะดูแลคนในครอบครัวและผู้ที่อ่อนแอได้ในขณะที่ตำแหน่งภรรยายังว่างอยู่อีกที่หนึ่ง จึงคุยกันว่าถ้าสามีจะมีภรรยาอีกคน คนๆ นั้นต้องเป็นแม่ม่าย คนจน หรือ หญิงที่ต้องการอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ จนในที่สุดอัลลอฮฺทรงให้เราได้พบกับหญิงม่ายคนนึงพร้อมกับลูกน้อยวัยสี่เดือนแถมเธอยังเป็นมุอัลลัฟที่ขาดทางนำ เราจึงสรุปว่า จะรับเธอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว
ในส่วนตัวดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่เธอเข้ามาจะช่วยตอบโจทย์หลายๆ อย่างให้ดิฉันได้ เพราะจากที่เป็นภรรยาคนที่สาม บางครั้งก็มีคนมาขอคำปรึกษา แต่เข้าใจความรู้สึกของคนที่เป็นภรรยาคนที่ สอง สาม สี่ แต่ไม่เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของคนที่สามีมีภรรยาเพิ่มว่ารู้สึกอย่างไร ถ้าตนได้ประสบบ้างก็จะเข้าใจและสามารถแนะนำพี่น้องมุสลิมมะฮฺได้อย่างเต็มที่ ดิฉันและสามีมีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ต้องการให้สังคมยอมรับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งในอิสลาม ในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักการ คือ ต้องมีความสามารถ ไม่ใช่เอาแค่ส่วนที่บอกว่า มีได้ถึงสี่มาเป็นข้ออ้าง แต่ไม่มีความสามารถที่จะดูแลให้ความยุติธรรมได้
ตัวดิฉันเองยังไม่มีลูกและไม่รู้ว่าจะสามารถจะมีได้หรือไม่ วัลลอฮุอะอฺลัม แต่สามียังอยากจะมีลูกอีก การที่มีภรรยาอีกคนคงทำให้เขามีโอกาสมีลูกได้มากขึ้นและลูกที่ติดมานั้นจะ ได้มีพ่อและผู้ดูแล แต่สิ่งที่ดิฉันหวังมากที่สุดคือ นี่เป็นโอกาสที่เราจะช่วยให้คนสองคนอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ และเรายังได้ดูแลเขาต่อไป ซึ่งมันต่างจากที่เราเป็นคนสอนมุอัลลัฟ เขามาเรียนอาจจะเข้าหรือไม่เข้าอิสลาม เมื่อเรียนจบไปแล้ว การที่จะติดตามว่า เขายังคงเข้มแข็งอยู่หรือไม่นั้นทำได้ยาก และนี่ก็เป็นอีกบททดสอบที่หนักหน่วง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เจ็บปวด คงไม่มีหญิงคนใดบอกได้เต็มปากว่าไม่รู้สึกอะไรเลยที่สามีมีภรรยาใหม่ แต่ความเจ็บปวดนั้นแทบจะไม่มีความหมายเลยเมื่อเทียบกับรางวัลจากอัลลอฮฺ เมื่อสามีแต่งงานใหม่เพียงไม่กี่เดือนดิฉันก็ได้ตั้งครรภ์ นี่คือของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิตของดิฉัน ขอให้ลูกชายของฉันเป็นลูกที่ศอและห์(ลูกที่ดีมีคุณธรรม) และเป็นบ่าวผู้ศรัทธาและอยู่เหนือบรรดาผู้ยำเกรงด้วยเถิด อามีน
Islammore : ขออัลลอฮฺทรงตอบรับดุอาของเราะห์มะฮ์ด้วยเถิด....อามีนยาร็อบบัลอาลามีน
ที่มา เว็บอิสลามมอร์
http://islammore.com/main/content.php?page=sub&category=43&id=2359